'4 กระทรวง' ออกโรงสกัดสินค้าจีนตีตลาด 'เอกชน' จี้รัฐเข้มใช้กฎหมายควบคุม

'4 กระทรวง' ออกโรงสกัดสินค้าจีนตีตลาด 'เอกชน' จี้รัฐเข้มใช้กฎหมายควบคุม

4 กระทรวง ออกโรงสกัดสินค้าจีน “พาณิชย์ - อุตสาหกรรม - สาธารณสุข - ดีอีเอส” หารือรับมือสินค้าจีนตีตลาดไทย เข้มมาตรฐาน มอก.- อย. ชี้แพลตฟอร์ม TEMU จดทะเบียนกับ ETDA แล้ว รับต้องดูผลกระทบรอบคอบ เร่งปิดแอปไม่ได้ ภาคเอกชน จี้รัฐ คุมเข้มใช้กฎหมายสแกนลงทุนต่างชาติ

จากกรณีสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ล่าสุดภาครัฐกำลังหาทางรับมือ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกมาระบุถึงแนวทางป้องกันสินค้าจีนทะลักเข้าไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 ว่า การเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปติดตามดูแลเรื่องนี้แล้ว โดยให้ติดตามอย่างใกล้ชิด

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจะมีการเรียกประชุม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข

ทั้งนี้ จะเน้นการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพื่อพิจารณาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้มีมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

รวมทั้งจะหาแนวทางควบคุมป้องกันได้อย่างไรบ้าง หรือจะแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคฉบับใดได้บ้างที่ไม่ขัดต่อความตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ด้วย

ส่วนกรณีบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย จนเกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย กระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว 

"ต้องเข้าใจปัจจุบันระบบการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าออนไลน์มากขึ้น โดยข้อกังวลที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นการคาดเดาสถานการณ์ จึงคงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน"

นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตรวจสอบแอปพลิเคชัน TEMU ว่า แพลตฟอร์มนี้ได้มาจดแจ้งที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายกลัวว่าแพลตฟอร์มนี้ขายสินค้าราคาถูก จะตัดช่องธุรกิจในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ทางกระทรวงดีอี ติดตามอยู่ การขายสินค้าของแพลตฟอร์มนี้ เป็นการขายสินค้าตรงจากทางโรงงาน หลายสินค้าไม่มีแบรนด์อาจทำให้สินค้าราคาถูก ซึ่งต้องดูองค์ประกอบด้วยเช่นคุณภาพสินค้า ที่มีการลดราคาสูงถึง 90% หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องติดตามดู

ส่วนเรื่องมาตรฐานสินค้า ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องพูดคุยกัน

ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ จะดูเรื่องแพลตฟอร์ม เป็นหลัก เช่นจะต้องมีการคืนสินค้า การขนส่ง ส่วนเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกัน และจะพูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์

สำหรับประเด็นแอปพลิเคชันดังกล่าวยังคงขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมีโอกาสที่จะสั่งปิดแพลตฟอร์มนี้หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า "เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม"

ส่วนจะเปิดหรือปิดแพลตฟอร์ม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการขายสินค้าของแอปพลิเคชันนี้ มีจำนวนมาก จะไปเหมารวมทั้งหมดเพียงเพราะมีสินค้าบางตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะไปปิดแพลตฟอร์มไม่ได้

“ขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียหายที่แจ้งมายัง ETDA เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้ เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา คงต้องรอดูสักพัก” นายประเสริฐ กล่าว

 

 

อย่างไรก็ดี ในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นในไทย และมีบรรดาเจ้าสัว นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล 4,000 คนเข้าร่วมงาน 

หนึ่งภารกิจสำคัญคือ การสร้างความยิ่งใหญ่ให้ “ทุนมังกร” ผงาดโลก ผ่านบรรดาเครือข่ายกว่า 60 ล้านคน ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมทำงานร่วมกันกว่า 4,000 หน่วยงาน มุ่งสร้างเศรษฐกิจจีน

ดังนั้นจึงไม่เกินคาดที่เห็นการรุกคืบของนักลงทุนจีนไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงไทย บุกทั้งอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว ค้าปลีก (ซูเปอร์มาร์เก็ต) ร้านอาหาร อีคอมเมิร์ซ ขนส่ง ยานยนต์ และน่าจะเห็นอีกหลากเซกเตอร์ตามมา

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า  การเข้ามาของธุรกิจจีนเพื่อขยายร้านอาหารในประเทศไทย มิติของผู้ประกอบการไทยมีความคาดหวังให้หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ตรวจสอบหรือสกรีนนักลงทุนที่เข้ามาอย่างเข้มข้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุนที่เข้ามานั้นมีศักยภาพด้านเงินทุนมหาศาล และสามารถที่จะเช่า ซื้ออาคารต่างๆ เพื่อทำธุรกิจ

ทั้งนี้ การขออนุญาตต่างๆ เพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบให้มีความถูกต้อง ซึ่งขณะนี้บางธุรกิจอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ที่พบสินค้านำเข้ามาจำหน่ายในร้านไม่มีฉลากภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลส่วนประกอบ ส่วนผสม รายละเอียดสินค้า รวมถึงไม่มีการรับรองจากมาตรฐานของรัฐ เช่น อย. สิ่งเหล่านี้ต้องควรระวังอย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน มีตัวอย่างธุรกิจไทยจะไปบุกตลาดประเทศจีน เพื่อนำสินค้าอาหารไปจำหน่าย กระบวนการขออนุญาต การปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายต่างๆใช้เวลานานกว่า 1 ปี และยังไม่สามารถผ่านด่านได้ แม้จะมีตัวแทนจำหน่ายช่วยแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สะท้อนการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง

“เมื่อมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย เช่น ร้านอาหาร ต้องการซื้อตึกเพื่อเปิดร้าน เราห้ามให้คนของเราไม่ให้ขายตึกได้ รวมถึงการทำธุรกิจยุคนี้เปิดกว้าง มีความเสรีมากขึ้น การเข้ามาของทุนต่างชาติ ขายสินค้าราคาถูก มีการแข่งขันราคา มุมหนึ่งผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่เราก็ต้องดูมาตรฐาน ความปลอดภัยต่างของสินค้าด้วย เราต่อต้านไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องระวัง”

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคกลาง กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุน จึงเห็นธุรกิจหลากเซกเตอร์เข้ามา ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมขายสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน อย. มีสินค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ามาตีตลาดจนโรงงานผลิต ผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมหนักอย่างโรงงานเหล็ก ที่ต้องปิดกิจการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการต่างด้าว ที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้น 49% จะต้องมีการตรวจสอบ บริษัทที่เข้ามารุกธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ควรมีการจดทะเบียนบริษัทเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย

รวมถึงการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อยกเว้นการเก็บอากรขาเข้า และขาออก สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ต้องตรวจสอบว่ามีการใช้สิทธิประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมีการกล่าวถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อขายสินค้าในประเทศ

“การตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนที่นี่ เพื่อขายสินค้าให้คนไทย ผิดวัตถุประสงค์"

นอกจากนี้ การเก็บภาษี 7% ของสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ยังมีเทคนิคในการแยกบิลเพื่อชำระเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ 1,500 บาท ชำระในไทย และอีกส่วนที่แพงกว่า เช่น 4,500 บาท แบ่งชำระผ่านช่องทางการชำระเงินผ่านออนไลน์ หรือเพย์เมนต์เก็ตเวย์ที่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้”

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีกฎหมายเพื่อดูแลการค้า การลงทุน จึงต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น หามาตรการป้องกัน ดูแลให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการกฎหมายอย่างถูกต้อง เป็นไปตามกติกาสากลต่างๆ

“รัฐควรมีมาตรการ และการแอคชั่นที่รวดเร็ว อย่างตอนนี้มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เข้ามา ยังไม่มีการขยับตัวแต่อย่างใด ตอนนี้เมื่อมีสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด ทดแทนสินค้าไทย

หากมองว่าธุรกิจไทยจะโดนทุบไหมหากปล่อยเป็นเช่นนี้ อาจไม่โดนทุบหรือหายหมด เพราะสินค้าบางอย่างผู้บริโภคยังมีความกังวล อย่างสินค้าที่ต้องรับประทาน ซึ่งต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทว่า อีกด้านเราต้องคิดว่าจะเติบโตยังไง จะโดนดิสรัปอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์