อันตราย!สั่ง”ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”จีน ไร้ภาษาไทย หลังอีคอมเมิร์ซ Temu รุกไทย

อันตราย!สั่ง”ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”จีน ไร้ภาษาไทย หลังอีคอมเมิร์ซ Temu รุกไทย

อีคอมเมิร์ซ Temu รุกไทย อย.ย้ำด่านมีระบบตรวจเข้ม เร่งวิเคราะห์จำนวนสั่งสินค้าเข้า- กำหนดปริมาณสั่งมาเพื่อใช้ส่วนตัว ย้ำ“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”ด่านตรวจพบไม่ตรงปก “เอาผิดคนสั่ง” ลั่นไม่แนะนำให้สั่งที่ไร้ฉลากภาษาไทย ไม่รู้ส่วนผสม-แหล่งผลิต หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

KEY

POINTS

  • อีคอมเมิร์ซ Temu รุกไทย อย.เร่งวิเคราะห์จำนวนสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่มแบบก้าวกระโดดหรือไม่ นำมาวางแผนกำลังคนรองรับการตรวจสอบพัสดุที่ด่านอาหารและยา 52 แห่งทั่วประเทศ
  • อย.พิจารณากำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งผ่านอีคอมเมิร์ซ์ส่งจากต่างประเทศเข้าไทย เพื่อใช้ส่วนตัว ไม่ใช่สั่งมาเพื่อจำหน่าย หลังอีคอมเมิร์ซ Temu บริการในไทย 
  • อีคอมเมิร์ซ Temu อย.ย้ำสั่ง“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ส่งจากต่างประเทศ ด่านตรวจพบไม่ตรงปก “เอาผิดคนสั่ง” ลั่นไม่แนะนำให้สั่งที่ฉลากไม่มีภาษาไทย ไม่รู้ส่วนผสม-แหล่งผลิต หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

เมื่อ อีคอมเมิร์ซ Temu แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ราคาสินค้าถูกที่สุด และส่งตรงจากโรงงานในจีน ทำให้มีข้อกังวลว่าจะเกิดการทะลักเข้ามาของสินค้า จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของไทย

ในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ครอบคลุม เรื่องของ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ภายในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หากมีการสั่งเข้ามาจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยด่านอาหารและยาที่มีอยู่ 52 ด่านทั่วประเทศ

ทว่า การสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางอีคอมเมิร์ซแล้วส่งเข้ายังผู้รับในประเทศไทยเป็นพัสดุทางไปรษณีย์นั้น เป็นการสั่งเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะบุคคล การตรวจสอบจะแตกต่างจากกรณีผู้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายที่จะต้องขออนุญาตนำเข้า    

สั่งอีคอมเมิร์ซ สินค้าไม่ตรงปก เอาผิดคนสั่ง

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า โดยหลักทุกผลิตภัณฑ์ที่สั่งมาจากต่างประเทศส่งเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางไปรษณีย์ จะมีด่านไปรษณีย์ตรวจสอบทุกพัสดุจะต้องถูกเอ็กซเรย์ โดยหากด่านศุลากรที่มีหน้าที่เก็บภาษีขาเข้าตรวจสอบแล้วว่าใบแสดงเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก็จะส่งมาให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาตรวจสอบ

อย.มีระบบตรวจสอบเข้มข้น  ด้วยการเปิดพัสดุดูว่าตรงปกตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่  เช่น แจ้งว่าเป็นเครื่องนวดหน้า หากตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ ก็จะมีการดำเนินตามกฎหมายกับผู้ที่สั่งเข้ามา ซึ่งจะเป็นผู้ที่เดินทางมารับพัสดุนั้นๆกับเจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถรับของไปได้ ศุลากรก็จะยึดอายัดไว้เป็นของกลาง

“ผลิตภัณฑ์ที่สั่งผ่านอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่คนเห็นแล้วจึงสั่งมาเพื่อทดลองส่วนตัว ตรงปกบ้าง ไม่ตรงบ้าง คนสั่งก็ไม่รู้ ซึ่งการสั่งเข้ามาแบบนี้ ปริมาณจะไม่ได้มากขนาดที่จะไปวางจำหน่ายต่อได้ เพราะไม่คุ้ม โดยมาเป็นการซื้อเข้ามาใช้งาน แต่สิ่งที่กังวลคืออาจจะเป็นช่องทางของการส่งสินค้าที่ผิดกฎหมาย ของต้องห้าม วัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติด แต่ก็มีระบบตรวจสอบอย่างเข้มข้นที่ด่าน”ภก.เลิศชายกล่าว 

เร่งวิเคราะห์จำนวนสินค้าสั่งผ่าน อีคอมเมิร์ซ Temu

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่ออีคอมเมิร์ซ Temu มาให้บริการคนไทย ที่มีการประเมินจะทะลักเข้ามาจำนวนมาก กำลังคนตรวจสอบจะเพียงพอต่อการตรวจสอบหรือไม่ ภก.เลิศชาย กล่าวว่า Temuเป็นแพลตฟอร์มของจีนที่เพิ่งเปิดตัวในไทย  ซึ่งอย.กำลังวิเคราะห์หลังบ้านอยู่ว่าปริมาณงานที่เพิ่มเติมขึ้นจากการสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านแพลตฟอร์ม Temu มีขนาดไหน หากมีจำนวนมากแบบก้าวกระโดดก็จะส่งผลต่อภาระงานในการที่จะต้องตรวจสอบแน่นอน รวมถึง วิเคราะห์ว่ามีช่องว่างตรงจุดไหนที่เมื่อสินค้าเข้ามาแล้วจะหลุดจากการตรวจสอบ เพื่อวางแผนรองรับ  เป็นสิ่งที่ต้องนำข้อมูลมาวางแผนต่อไป

พิจารณากำหนดปริมาณสั่งเข้าที่ใช้ส่วนตัว  

ขณะนี้ถ้ามองตามเกณฑ์ของกฎหมายที่อย.ดูแล  หากกรณีคนไปต่างประเทศแล้วซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพกลับเข้ามาในประเทศ มีการกำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่อนุญาตให้ติดตัวเข้ามาได้ไว้อยู่แล้ว

ขณะที่การสั่งเข้ามาผ่านอีคอมเมิร์ซ ไม่เข้านิยามว่าเป็นของติดตัว แต่ถามว่าการสั่งเข้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซเป็นของที่จะต้องขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ รวมถึงเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เพราะหากสั่งเข้ามาแค่ 1 ชิ้นแล้วต้องมาขออนุญาตก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นสิ่งที่อย.กำลังพิจารณาดำเนินการขีดเส้น เรื่องการกำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งเข้ามาส่งผ่านไปรษณีย์ ที่ไม่เข้าข่ายเป็นการสั่งเข้ามาเพื่อจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม อย.มีมาตรการตรวจสอบเรื่องนี้เข้มข้น หากมีปริมาณการสั่งเข้ามาจำนวนที่มากแล้วบอกว่าเพราะเอามาใช้เองเพราะชอบมาก เมื่อคนสั่งมารับของกับเจ้าหน้าที่ก็อาจจะมีการเทคโน๊ตว่าคนนี้เคยนำเข้าผลิตภัณฑ์นี้มาปริมาณเท่านี้ แต่กลับตรวจสอบพบว่านำไปขายอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ในไทย ก็จะมีการตรวจสอบเรื่องของการขึ้นทะเบียนอย. พบความผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

“ส่วนตัวเชื่อว่าการสั่งผ่านอีคอมเมิร์ซเข้ามาเพื่อขายนั้น ไม่คุ้มและสู่ราคาต้นทุนไม่ได้ เพราะคนซื้อจะสั่งเองผ่านอีคอมเมิร์ซได้ราคาถูกกว่า”ภก.เลิศชายกล่าว  

ผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่มีภาษาไทย ไม่ควรสั่ง

ภก.เลิศชาย แนะนำด้วยว่า สินค้าต่างๆที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนที่จะเลือกซื้อ จะต้องดูบรรจุภัณฑ์มีรอยฉีกขาดหรือสมบูรณ์หรือไม่ แต่สินค้าที่มาจากต่างประเทศนั้น จะไม่มีฉลากภาษาไทย โดยหลักจึงอย่าไปซื้อสินค้าที่อ่านฉลากไม่ออก เนื่องจากจะไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง  มีของที่เราแพ้หรือไม่  เมื่อเกิดความเสียหาย ของไม่ตรงปก ไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใคร

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ขายในประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นของดี มีคุณภาพดี และสามารถตรวจสอบได้ ร้องเรียนได้กรณีมีปัญหา จึงไม่แนะนำให้สั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะอาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ  ตรวจสอบไม่ได้ ไม่รู้แหล่งที่มาการผลิต ไม่สามารถร้องเรียนได้หากเกิดผลกระทบ”ภก.เลิศชาย

ยอมรับตลาดอยู่ยุคแพลตฟอร์มออนไลน์

ภก.เลิศชาย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการสั่งเข้ามาผ่านอีคอมเมิร์ซต่างๆ ยังเป็นปกติ จำนวนยังพอรับไหว ซึ่งอย.มองว่าปัจจุบันตลาดไม่เหมือนเดิม ตลาดอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น กระบวนการตรวจสอบก็กำลังข้ามจากตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ตไปเป็นสินค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น  ก็มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์มาระดับหนึ่ง

“อย.มีหน้าที่การันตีว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้ามา แม้เป็นของที่สั่งเข้ามาเพื่อใช้ส่วนตัว ก็จะต้องไม่เป็นสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และตรงปก ไม่มีสิ่งของที่ผิดกฎหมาย สิ่งของต้องห้าม”ภก.เลิศชายกล่าว