‘ป้อม ภาวุธ’ เตือน Temu ถล่มทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยส่อเละ

‘ป้อม ภาวุธ’ เตือน Temu ถล่มทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยส่อเละ

สงครามอีคอมเมิร์ซเดือด! Temu จากแดนมังกร ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ‘ป้อม ภาวุธ’ แนะกลยุทธ์รับมืออย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด พร้อมทั้งฝากถึงรัฐฯ ไทยว่า ควรมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจคนไทยได้หรือยัง?

Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว หลังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการค้าออนไลน์ทั่วโลก ด้วยจุดเด่นด้านราคาสินค้าที่ “ถูกสุด” และ “ส่งตรงจากโรงงานในจีน” ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มหวั่นวิตกถึงอนาคตของธุรกิจตนเอง

Temu เป็นบริษัทในเครือของ PDD Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของ Pinduoduo อีคอมเมิร์ซจีน แม้ว่า PDD จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไอร์แลนด์และจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐฯ แต่ก็ยังคงเป็นที่รู้กันว่าเป็นบริษัทจีนโดยแท้

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ “คุณป้อม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Creden.co และ PaySolutions ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ว่า จุดเด่นของ Temu คือการนำเสนอสินค้าหลากหลายประเภทในราคาที่ต่ำมาก ตั้งแต่แฟชั่น ไปจนถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยอาศัยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้สามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้ พร้อมโปรโมชันส่วนลดสูงสุดถึง 90% สำหรับบางรายการ

“สินค้าจีนบุกเข้ามาผ่าน Shopee, Lazada และ TikTok Shop หากแต่สินค้าบางประเภทผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนไทย บางส่วนก็ผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนจีน แต่วันนี้คือ สินค้าจากจีนส่งตรงมาจากโรงงานจีนผ่านแอปฯ Temu เข้ามาถึงมือผู้บริโภคคนไทยแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกแล้ว มันจะส่งผลกระทบแก่ผู้ที่นำเข้าสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

Temu เข้ามาพร้อมกับแอปภาษาไทย ราคาเป็นบาท บริการส่งฟรี และระบบคืนเงินหากไม่พอใจสินค้า นี่คือภัยคุกคามระลอกใหม่ต่อผู้ประกอบการไทย”

คุณป้อมชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การทำธุรกิจออนไลน์ของไทยในปัจจุบันนั้นยากลำบากมาก เนื่องจากการแข่งขันในโลกออนไลน์ที่รุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมาก และต้องแข่งขันด้านราคาและโปรโมชันอย่างหนัก

“การทำธุรกิจออนไลน์ของคนไทยวันนี้มันเหนื่อยมาก เพราะโลกของการทำธุรกิจเปลี่ยนไป เราเข้าไปอยู่ในออนไลน์หมดเลย ซึ่งผู้ที่ได้เปรียบคือ คนที่ทำแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส 

มันกลายเป็นกว่าจากเดิมที่คนทำธุรกิจขายของขายในพื้นที่ของตนเอง เช่น ในจังหวัด ในอำเภอ คุณมีคู่แข่งไม่กี่เจ้า แต่วันนี้คุณมีคู่แข่งอีกเป็นร้อยๆ รายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การแข่งขันเลยดุเดือดมากขึ้น ทั้งยังมีกลยุทธ์ที่งัดกันมาสู้ เช่น โปรโมชัน ส่วนลด 

ที่สำคัญแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เป็นการผูกขาดโดยสิ้นเชิง ซ้ำร้ายคือ แพลตฟอร์มต่างขึ้นราคาเช่าพื้นที่การขายอย่างต่อเนื่อง ทางภาครัฐก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมเรื่องอัตราส่วนแบ่ง แต่กลับส่งสรรพากรเข้ามาตรวจสอบรายได้โดยตรงกับแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งเหนื่อยหนักขึ้นไปอีก”

Temu สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

การมาของ Temu อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ได้แก่ 

  1. ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจไปต่อไม่รอด เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ 
  2. ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นโรงงานอาจผลิตสินค้าขายไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าสินค้าจากจีน
  3. ซัพพลายเชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากความต้องการผลิตในประเทศลดลง
  4. แรงงานอาจตกงานเนื่องจากโรงงานปิดตัว ส่งผลต่อการจ้างงานในภาคการผลิต

“แม้ว่าผู้บริโภคอาจมองว่าการมีสินค้าราคาถูกเป็นเรื่องดี แต่ยิ่งเราซื้อสินค้าจีนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำร้ายธุรกิจคนไทยมากขึ้นเท่านั้น

คนไทยและคนจีนมีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่างกันก็จริง แต่ Temu มีสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นล้านกว่าชิ้น ซึ่งมีหลากหลายคุณภาพ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยคนเริ่มรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น บางคนไม่ได้มองเรื่องแบรนด์ แต่มองแค่ว่ามันคุ้มค่าและตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ของเขาในงบที่ประหยัดกว่าเดิมได้ไหม 

ที่สำคัญกว่านี้คือ สินค้าบางชิ้นราคาถูกและคุณภาพโอเคไปจนถึงคุณภาพดี ซึ่งบางทีมันไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์ก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีสินค้าบางประเภทที่คนไทยยังสนใจเรื่องแบรนด์อยู่ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค”

คุณป้อมอธิบายว่า รัฐบาลจีนใช้กลยุทธ์ส่งออกสินค้าล้นตลาดเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ โดยเพิ่มกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้า ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเช่น AI และหุ่นยนต์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผลิตได้ตรงความต้องการและมีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้าถึงตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดจีนและตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมาก

“ตอนนี้ Temu เขาไม่ได้ตีตลาดแค่ไทย เขาตีตลาดทั่วโลก ยกตัวอย่างอเมริกา Temu ตี Amazon ซะเละ ทำให้ Amazon ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน เช่น การเปิดยูนิตใหม่โฟกัสการนำเข้าสินค้าจีนมายังอเมริกาโดยตรง” 

ผู้เล่นรายใหญ่-ผู้ประกอบการไทยปรับตัวอย่างไร?

คุณป้อมคาดการณ์ว่า เจ้าใหญ่ในตลาดไทยอย่าง Shopee และ Lazada จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับการมาของ Temu โดยอาจใช้กลยุทธ์ เช่น เพิ่มโปรโมชันและคูปองส่วนลดให้มากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของไทย พัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจาก Temu

“เราอาจจะเห็นสงครามราคาครั้งใหม่ในวงการอีคอมเมิร์ซไทย ซึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะสั้น แต่อาจทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ไม่ได้ในระยะยาว” 

ในช่วงท้าย คุณป้อมให้ความเห็นว่า Temu จะไม่มีโอกาสเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพราะการสร้างโรงงานในไทยมันมีข้อจำกัดและท้าทายหลายอย่าง ซึ่งเขามีทุกอย่างครบในจีนอยู่แล้ว คงจะใช้กลยุทธ์ส่งออกจากจีนไปยังทั่วโลกมากกว่าการตั้งโรงงานในประเทศนั้นๆ 

ท่าทีของรัฐฯ ไทยต่อธุรกิจต่างชาติ

อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการปรับตัวแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะสู้ธุรกิจต่างชาติได้ คำถามต่อไปคือ รัฐไทยควรมีมาตรการอะไรต่อเรื่องนี้บ้าง คุณป้อมให้ความเห็นว่า “ขณะนี้ผมอยากเห็นแอคชั่นของรัฐบาลต่อเรื่องต่างๆ หลายด้าน หนึ่งคือ การสร้างความเท่าเทียม ต้องยอมรับว่ากฎหมายและกฎระเบียบหย่อนยานมาก ทำไมจู่ๆ สินค้าจากจีนถึงทะลักเข้ามาได้ กรมศุลกากรปล่อยให้สินค้าบางอย่างหลุดเข้ามาได้อย่างไร เช่น สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าที่ไม่มีอย. 

สองคือ เราปล่อยให้คนต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในประเทศได้เหมือนคนไทย โดยใช้วิธีการจ้างคนมาเปิดธุรกิจแล้วขายแข่งคนไทย คำถามเหล่านี้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร

วันนี้เรายังไม่ต้องพูดถึงการขึ้นภาษีหรือการเข้าไปกีดกันการขายของเขา เราพูดถึงการนำกฎหมายเดิมขึงให้ตึงจนทำให้มันสามารถป้องกันคนต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับคนไทย ผมว่านี่คือเรื่องที่ต้องทำเป็นอย่างแรก

ในส่วนต่อไปต้องดูว่าสินค้าบางอย่างเราแพ้จริงไหม ต้องมีการปรับภาษี หรือเปลี่ยนกฎหมายให้เหมาะสมอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีการปรับกฎหมายใหม่ จนกระทั่งเขาสามารถปกป้องธุรกิจท้องถิ่นได้ ธุรกิจต่างชาติไม่สามารถเข้าไปทำการตลาดในอินโดนีเซียได้เลย แปลว่ากฎหมายเขาเข้มแข็งมาก

ผมคิดว่าตอนนี้ภาครัฐไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก หากไปดูตามสื่อหลายสื่อ ผู้ประกอบการต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ไหวแล้ว ธุรกิจเราไม่เหลือแล้ว เราต้องการให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ หันมาสนใจความเดือดร้อนเหล่านี้

เพราะการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้เพียงแค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเท่านั้น หากแต่มันต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ กระทรวง ลงมาคุย มาฟังผู้ประกอบการไทยและออกกฎระเบียบใหม่ที่ช่วยเหลือคนไทยได้” 

บทสรุป การเข้ามาของ Temu ในตลาดไทยนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการอีคอมเมิร์ซไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าหลากหลายในราคาที่ถูกลง 

ดังนั้น การพิจารณาผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยและการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและหาแนวทางร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้