23 บริษัทได้ “GIP Plus” อย.ให้สิทธินำเข้า“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”รวดเร็ว  

23 บริษัทได้ “GIP Plus” อย.ให้สิทธินำเข้า“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”รวดเร็ว  

อย.รับรอง “GIP Plus” 23 บริษัทเป็นผู้นำเข้าคุณภาพสูง” ด่านอย.ให้เลนพิเศษ ตรวจปล่อย “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”เร็ว ลด-ยกเว้นเปิดตู้สินค้า ช่วง 2 ปีรับรองแล้ว 23 บริษัท สนับสนุนไทยเป็นฮับการแพทย์-ขนส่งภูมิภาค

KEY

POINTS

  • Pain points ผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ  สินค้าติดด่านอาหารและยา(อย.)ด้วยเอกสารที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง และการตรวจปล่อยสินค้ามีขั้นตอนและเอกสารมาก
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รับรอง 23 บริษัทคุณภาพสูง นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้สิทธิประโยชน์พิเศษ ตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านอย.สะดวก รวดเร็ว
  • ปี 2566 การนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window (NSW) มูลค่า 439,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 13.8%  

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ มี Pain points เรื่อง สินค้าติดด่านอาหารและยา(อย.)ด้วยเอกสารที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ,การตรวจปล่อยสินค้ามีขั้นตอนและเอกสารมาก ผู้นำเข้าต้องศึกษาและอาจไม่ได้รับความสะดวก ,ผู้นำเข้าที่ดีมีคุณภาพสูงไม่ได้รับการส่งเสริม และขาดแรงจูงใจในการยกระดับตนเองให้มีคุณภาพ และยังมีการพบผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าที่ไม่ถูกต้องในท้องตลาด

GIP Plus บริษัทคุณภาพสูง นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 ที่โรงแรมอัศวิน นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานส่งเสริมผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพตามวิธีการที่ดีในการนำหรือสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้ามาในราชอาณาจักร(GIP Plus)ว่า ในเรื่องการนำเข้าและส่งออก  อย.พยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญ เพื่อให้เร็ว ง่าย สะดวก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ แต่ไม่ลดคุณภาพความปลอดภัยลง ซึ่ง GIP Plus เป็นสิ่งที่บอกถึงการเป็นผู้ประกอบการที่ดีในการนำเข้า เป็นหลักเกณฑ์ที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบนี้ ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อมูลค่าการนำเข้าราว 18,000 ล้านบาท

“อย.ไม่ใช่หน่วยงานที่รออนุมัติอนุญาตเพียงอย่างเดียว แต่อะไรที่เป็นปัญหา อุปสรรค และเป็นโอกาสก็จะเข้าไปร่วมในส่วนนั้น  GIP Plus การตรวจปล่อยสินค้าที่ทำได้เร็วขึ้น สินค้าที่เข้ามามีความปลอดภัย และสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสเชิงธุรกิจ”นพ.ณรงค์กล่าว 

GIP Plusหนุนไทยศูนย์กลางการแพทย์-ขนส่ง

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาฯอย. กล่าวว่า  GIP Plus เป็นการผนวกเรื่องมาตรฐานที่ดีเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้ากับหลักธรรมาภิบาล และการประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นผู้นำเข้าคุณภาพสูง โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะนำเข้าสินค้าที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานและปลอดภัย จึงสมควรได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ

“GIP Plus ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมให้สินค้านำเข้าได้รับการตรวจปล่อยอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัย บริการโปร่งใสและสร้างความพึงพอใจให้ผู้รับบริการ เป็นการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยอย่างยั่งยืน”ภก.เลิศชายกล่าว   

เกณฑ์พิจารณา GIP Plus

ด้านดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผอ.กองด่านอาหารและยา อย. กล่าวว่า  การพิจารณารับรองผู้ประกอบการที่จะได้รับ GIP Plus นั้นสามารถยื่นขอรับรองได้ทั้งสถานประกอบการขนาดใหญ่ SMEs หรือสตาร์ทอัพที่เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ซึ่งเงื่อนไขพื้นฐานอันดับแรกจะต้องไม่เคยถูกดำเนินคดีใน 1 ปีที่ผ่านมา  เช่น นำเข้าอาการที่ฉลากไม่ถูกต้องแล้วอย.สั่งปรับ หรือกรณีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงแล้วอย.สั่งฟ้องศาล และศาลตัดสินมีโทษจำคุกแล้วรอลงอาญา เป็นต้น

หากผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ก็สามารถขอเข้ารับการประเมินเพื่อให้ได้ GIP Plus ซึ่งอย.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบภายใน 120 วันหลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นเอกสาร โดยหลักจะเข้าไปตรวจสอบระบบการจัดการของบริษัท พิจารณาใน 7 หมวด ได้แก่ 

1.ข้อกำหนดทั่วไป เช่น มีรางวัลที่เกี่ยวกับธุรกิจธรรมาภิบาล หรือมีกิจกรรมCSR ต่างๆ เป็นต้น

2.สถานประกอบการและผลิตภัณฑ์ มีการจดทะเบีบนถูกต้อง มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

3.อาคารสถานที่

4.เครื่องมือและอุปกรณ์ สุขลักษณะและการควบคุมสัตว์รบกวน

5.บุคลากร

6.การขนส่งและการเก็บรักษา

7.การจัดการข้อร้องเรียนและการเรียกคืน

สิทธิประโยชน์ GIP Plus

สำหรับบริษัทผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการรับรอง GIP Plus จะได้สิทธิประโยชน์ คือ

  • ได้รับการอำนวยความสะดวกพิเศษ ณ ด่านอาหารและยา โดยอาหาร ได้รับตรวจปล่อยอัตโนมัติ ผ่านGreen line และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ได้รับการตรวจปล่อยอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรก(First priority) ณ ช่องบริการด่วนพิเศษ GIP lane และลดหรือยกเว้นการเปิดตู้ตรวจสินค้า
  • ได้รับคำปรึกษาพิเศษและการแจ้งเตือนจาก Helper Team
  • ได้รับการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเชิดชูเกียรติ
  • สามารถนำการรับรอง GIP Plus ไปประชาสัมพันธ์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
  • เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มผลประกอบการของธุรกิจช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

ย้ำปลอดภัย คุ้มครองผู้บริโภค

“ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบ GIP Plus 90 คะแนนขึ้นไป อย.เข้าไปตรวจติดตาม 3 ปีครั้ง แต่ถ้าได้คะแนนน้อยจะติดตามปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการรับรอง GIP Plus เป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคด้วย เพราะมีการตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้มข้นตั้งแต่ต้นว่ามีคุณภาพสูง สินค้าที่นำเข้ามีความปลอดภัย และมีการตรวจสอบหลังได้รับ GIP Plus โดยการสุ่มตรวจแบบไม่แจ้งล่วงหน้า  หากพบกระทำผิดจะพักใช้ และหากผิดร้ายแรงจะเพิกถอน GIP Plus”ดร.วัฒนศักดิ์กล่าว 
 

ออกของได้สะดวก-รวดเร็ว

      ขณะที่ เลิศชาย พงษ์โสภณ ที่ปรึกษาสมาคมตัวแทนออกของ กล่าวว่า  เดิมตัวแทนออกของต้องหอบเอกสารของบริษัทผู้นำเข้าเป็นตั้งๆเป็นกองๆเพื่อไปแสดงที่ด่านอย. ที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวันและต้องหาตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบด้วย  แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่เคยนำเข้าแล้วก็ตาม แต่หากบริษัทผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพได้รับ GIP Plus เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทำดีแล้วได้ดี เป็นผู้นำข้าคุณภาพที่ทำถูกต้อง ส่งผลให้ตัวแทนออกของสามารถดำเนินการไปออกของหรือผลิตภัณฑ์นำเข้าของบริษัทนั้นได้อย่างสะดวกและรวมเร็วมากขึ้น 

23 บริษัทได้ “GIP Plus” อย.ให้สิทธินำเข้า“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”รวดเร็ว  

23 บริษัทได้ GIP Plus

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับรอง GIP Plus แล้วรวม 23 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัท สยามฟาร์มาซูติคอล จำกัด

2.บริษัท เทพไทย เคมี จำกัด

3.บริษัท เบอร์ลินหาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด

4.บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด

5.บริษัท แจนแซ่น-ซีแลก จำกัด

6.บริษัท เรดอน จำกัด

7.บริษัท เจ็บเซ่น แอนด์ เจ็บเซ่น  อินทรีเดียนส์(ที) จำกัด

8.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเชียเคมีเวชภัณฑ์

9.บริษัท มาสุ จำกัด

10.บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด

11.บริษัท ดีทแฮล์ม เคลเลอร์ โลจิสติกส์ จำกัด

12.บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด(มหาชน)

13.บริษัท ไดอิจิ ซังเคียว(ประเทศไทย) จำกัด

14.บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย)จำกัด

15.บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด 

16.บริษัท ออโรแม็กซ์ จำกัด

17.บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรขั่น จำกัด(มหาชน)

18.บริษัท ฟาร์มาแลนด์(1982) จำกัด

19.บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น(ประเทศไทย) จำกัด

20.บริษัท เอสพีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

21.บริษัท คิง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 

22.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

23.บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ 4 แสนล้าน

ภาพรวมปี 2566 ด่าน อย.มีการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window (NSW) โดยเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้ากับกรมศุลกากร มีใบขนส่งสินค้า 239,212 ใบ รวม 1,693,236 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 13.8%  มูลค่า 439,884 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2565  ที่มี มูลค่า 427,438 ล้านบาท และปี 2564 ที่มีมูลค่าประมาณ 370,660 ล้านบาท  มากที่สุดเป็นอาหาร สามารถตรวจและปล่อยภายใน 24 ชั่วโมงได้ถึง 89% ตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง 6% รวมทั้งหมดเป็น 95% โดยอีก 5% สามารถตรวจปล่อยเกิน 48 ชั่วโมง

สำหรับการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่าน e-Submission  ปี 2565 มี 32,654 รายการ เพิ่มเป็น 52,051 รายการในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 59.4% ส่วนการพิจารณาเชื่อมโยงใบรับรอง (Certificate) สถานที่ผลิต เพื่อลดการดูเอกสารที่ด่านพบว่า ปี 2565 อยู่ที่ 3,619 คำขอ ปี 2566 เพิ่มเป็น 5,120 คำขอ เพิ่มขึ้น 41.48% การสุ่มตรวจสัมภาระผู้เดินทางเข้าประเทศ ปี 2565 อยู่ที่ 55,818 ราย ปี 2566 เพิ่มเป็น 114,024 ราย เพิ่มขึ้น 104.28%  ตรวจสอบพัสดุทางไปรษณีย์ ปี 2565 อยู่ที่ 28,998 ราย ปี 2566 ลดลงเหลือ 21,643 ราย หรือลดลง 25.36%