’EEC’ ชง ครม. ปลดล็อก ‘MRO’ ประมูลศูนย์ซ่อม ‘อู่ตะเภา’ ดันฮับการบินภูมิภาค

’EEC’ ชง ครม. ปลดล็อก ‘MRO’ ประมูลศูนย์ซ่อม ‘อู่ตะเภา’ ดันฮับการบินภูมิภาค

สกพอ.เตรียมเสนอแก้มติ ครม.ปลดล็อก MRO อู่ตะเภา ยกเลิกโครงการการบินไทย-แอร์บัส เปิดประมูลใหม่ รับดีมานด์การซ่อมเครื่องบินพุ่ง “การบินไทย” ยื่นประมูลใหม่ได้ คาดศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาเสร็จปี 71-72 เสร็จพร้อมรันเวย์ที่ 2 หลัง ITD ประมูลได้งานก่อสร้าง 1.32 หมื่นล้าน

KEY

POINTS

  • โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ และเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของอีอีซี โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เพิ่งจะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 7 ส.ค.67
  • ปัจจุบันความคืบหน้าล่าสุดคือ มีการประมูลรันเวย์ที่ 2 โดยบริษัท ITD ชนะการประมูลวงเงิน 1.32 หมื่นล้านระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี  
  • อีกโครงการที่จะมีการฟื้นขึ้นมาแล้วให้เสร็จใกล้เคียงกับรันเวย์ที่ 2 คือ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งEEC จะเสนอ ครม.ปลดล็อกมติ ครม.เดิมที่กำหนดให้การบินไทยร่วมมือกับแอร์บัส 
  • การเปิดประมูล MRO ใหม่จะเปิดโอกาสให้การบินไทยเข้ามาประมูลด้วย เช่นเดียวสายการบินอื่นๆ ที่ต้องการมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินในไทยก็มาประมูลได้ 

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ และโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นอีกโครงการที่มีความสำคัญของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ในอนาคต

รวมทั้งมีแผนที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเป็นเมืองการบินที่ทันสมัยและมีความสำคัญระดับภูมิภาค ซึ่งล่าสุดโครงการนี้จะมีการฟื้นโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) กลับมาเป็นแผนที่จะมีการก่อสร้างในพื้นที่อีกครั้งเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการบินในภูมิภาค

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจซ่อมเครื่องบินถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศูนย์ซ่อมเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ส่วนศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งการบินไทยบริหารงานศูนย์ซ่อมดังกล่าวอยู่แล้วกำลังจะหมดอายุสัญญาในปี 2568

ขณะที่พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภาใน EEC มีศักยภาพในการตั้ง MRO เพื่อให้บริการกับสายการบินพาณิชย์ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่ง สกพอ.ได้กันพื้นที่สำหรับการลงทุน MRO ไว้ประมาณ 210 ไร่ โดย สกพอ.เป็นผู้บริหารพื้นที่เอง 

ทั้งนี้ เดิมมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัทแอร์บัสจากประเทศฝรั่งเศส 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์ในธุรกิจการบิน และการลงทุนใน EEC ได้เปลี่ยนไปจากในอดีตแล้ว และเอกชนจากต่างประเทศรายเดิมอาจจะไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนธุรกิจ MRO ในไทย ดังนั้น สกพอ.จึงจะเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ดังกล่าวเพื่อเปิดกว้างให้มีการประมูล MRO ในพื้นที่นี้ใหม่

“MRO ที่จะมีการเปิดประมูลเป็นในลักษณะที่ สกพอ.ให้เช่าพื้นที่ ซึ่งการบินไทยก็สามารถเข้ามาประมูลได้ เพราะเขาเองกำลังจะต้องตัดสินใจเนื่องจากจะหมดสัญญาเช่าที่ดอนเมืองในปีหน้า" นายจุฬา กล่าว

’EEC’ ชง ครม. ปลดล็อก ‘MRO’ ประมูลศูนย์ซ่อม ‘อู่ตะเภา’ ดันฮับการบินภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม สกพอ.จะเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันระหว่างสายการบิน เพราะพื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพรองรับการซ่อมเครื่องบินหลายประเภท โดยมีรันเวย์รองรับถึง 2 รันเวย์ และรันเวย์ที่ 2 จะก่อสร้างเสร็จปี 2571 ซึ่งพื้นที่ของ MRO จะอยู่ติดกับรันเวย์ที่ 2 พอดีจึงถือว่าเป็นพื้นที่ ที่ดีมากในการสร้าง MRO ขึ้นในสนามบินนี้ และการเปิดใช้งานรันเวย์ที่ 2 กับ MRO จะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

ITD ชนะประมูลสร้างรันเวย์ 2 

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ เปิดเผยว่า รันเวย์ที่ 2 และทางขับมีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลการก่อสร้างในโครงการ โดยมีเอกชนผ่านคุณสมบัติ 5 ราย ตามหลักเกณฑ์การประมูลโครงการก่อสร้างแบบนานาชาติ (International Bidding)

ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกได้สรุปผลการคัดเลือกภาคเอกชนที่ชนะการประมูลการก่อสร้างโครงการนี้แล้วได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ “ITD” ซึ่งเสนอราคาการประมูลก่อสร้าง 13,200 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 15,200 ล้านบาท ขณะที่อีก 4 บริษัทเสนอราคาการก่อสร้างสูงกว่า ITD ทุกราย

“หลังจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกเตรียมจะประกาศผลการคัดเลือก จากนั้นกองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการจะทำสัญญากับ ITD เพื่อเริ่มทำการก่อสร้าง โดยกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีนับจากวันที่เริ่มทำสัญญา” แหล่งข่าวระบุ

’EEC’ ชง ครม. ปลดล็อก ‘MRO’ ประมูลศูนย์ซ่อม ‘อู่ตะเภา’ ดันฮับการบินภูมิภาค

“ภูมิธรรม”ตรวจความคืบหน้าอู่ตะเภา

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การมารับฟังในส่วนของการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EEC โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกครั้งนี้เป็นการมาร่วมขับเคลื่อนสนามบินอู่ตะเภาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาพื้นที่ EEC

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐโดยกองทัพเรือ และภาคเอกชน ซึ่งจะร่วมกันสร้างความร่วมมือผลักดันให้โครงการได้เดินหน้าต่อเนื่อง 

“ผมในฐานะรองนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขข้อติดขัดของโครงการในทุกด้าน เพื่อให้โครงการสำเร็จโดยเร็ว โดย สกพอ.จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุน และรัฐจะผลักดันให้เกิด EEC ขึ้นอย่างเต็มกำลัง” นายภูมิธรรม กล่าว

ส่องคืบหน้าโครงการพัฒนาอู่ตะเภา

ส่วนความคืบหน้าด้านอื่นของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกมีความคืบหน้ามากขึ้น ดังนี้ 

1.งานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ ปัจจุบันกองทัพเรือได้รับอนุมัติกรอบวงเงิน 16,210 ล้านบาท และ สกพอ.ได้ส่งมอบพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมางานก่อสร้าง และที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานก่อสร้าง 

2.งานระบบสาธารณูปโภคที่จัดทำโดยภาครัฐโดยมีความคืบหน้าไปหลายด้าน เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ขนาด 15 เมกะวัตต์ มีความก้าวหน้า 95.13% , งานระบบประปา และน้ำเสีย กำลังผลิตน้ำประปา 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เฟสแรก) ก่อสร้างแล้ว 100% , งานระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความก้าวหน้าภาพรวม 50.16%

สกพอ.เตรียมออก NTP ปี 67

ส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนผู้ได้รับสัมปทานคือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ดำเนินการเริ่มก่อสร้างโครงการ ซึ่งจะต้องมีการออกเอกสารการเริ่มงาน (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 หลังจากที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทเอเชีย เอราวัณ จำกัด ในฐานะเจ้าของผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , สกพอ.และ UTA 

ทั้งนี้เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างงานสำคัญ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572

“การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซีได้มากขึ้นด้วย” นายภูมิธรรม กล่าว

เร่งออกประกาศ EEC Track ดึงการลงทุน

ส่วนความคืบหน้าในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า ได้รับทราบความคืบหน้าตามที่ กพอ.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... (EEC Track) เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“ตอนนี้ได้รับทราบรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ของ EEC ที่จะใช้ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศแล้ว แต่ขอดูรายละเอียดอีกหน่อย และไม่นานนี้จะเสนอเข้าไปยัง ครม.โดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่ขอบอกว่าจะเข้าเร็วสุดตอนไหน เพราะต้องดูให้รอบคอบก่อน” นายภูมิธรรม ระบุ

อุตสาหกรรมจ่อลงทุน 2.7 แสนล้าน

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนใน EEC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566-12 ก.ค.2567 พบว่า สกพอ.ได้ชักชวนนักลงทุนภาพรวม 109 ราย เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท รวม 45 โครงการ รวมมูลค่าโครงการรวม 276,469 ล้านบาท ดังนี้

1.กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต้องการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าสูงถึง 152,300 ล้านบาท รวม 15 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 9 ราย รวม 12 โครงการ และโครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 รายรวม 3 โครงการ

2.ส่วนอุตสาหกรรมบริการ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 59,582 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 11 ราย รวม 11 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 2 ราย รวม 2 โครงการ

3.อุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 46,739 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 5 ราย รวม 5 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ

4.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 17,515 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 6 ราย รวม 6 โครงการ 

5.อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 333 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 3 ราย รวม 3 โครงการ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์