“เนอร์สซิ่งโฮม ” ปั้นไทยเป็น “ฮับ”ให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตบั้นปลายมีความสุข
ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ดันธุรกิจ“เนอร์สซิ่งโฮม ” เผยช่วงปี 2561–2566 จำนวน “เนอร์สซิ่งโฮม ”ขยายตัวเฉลี่ย 25.1 % สร้างรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท ชี้ ไทยมีความหลากหลายของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ตอบโจทย์เทรนด์ด้านการดูแลสุขภาพในการมีชีวิตที่ยืนยาว
KEY
POINTS
Key Point
- ปี 67 ไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่า 13.2 ล้านคน หรือกว่า 20.36 %ของประชากรทั้งหมด
- ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีจำนวน 743 รายเพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 6 %
- ธุรกิจผู้สูงอายุ สร้างรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ก่อนกว่า 12 %
- เป้าหมาย ไทยเป็นฮับ (Medical Hub)ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
แนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ข้อมูลจาก World Population 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16 %
ขณะที่ประเทศไทย ปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ปี 2566 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน จากจำนวนผู้สงอายุที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นโอกาสของการทำธุรกิจเพื่อรองรับคนกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ” เนอร์สซิ่งโฮม” ซึ่งธุรกิจดังกล่าวในไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้น
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการโฆษณาสินค้าและบริการที่มีสรรพคุณด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคต่างๆ อย่างแพร่หลายเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ (Sliver Age) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และจากสถิติประชากรในปี 2567 พบว่าประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่า 13.2 ล้านคน หรือกว่า 20.36 %ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 พบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีจำนวน 743 รายเพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 6 % มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 4,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 2 % และสร้างรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 12 %
ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคลอยู่จำนวน 887ราย และจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในประเทศไทย สะสม ณ เดือนมิ.ย.ปี 2566 มีจำนวน 758 แห่ง เป็นประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม จำนวน 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด และช่วงระหว่างปี 2561–2566 จำนวนเนอร์สซิ่งโฮม มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 25.1 % โดยมากยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้ขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจผู้สูงอายุเติบโตต่อเนื่องมาจาก
1.ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการบริการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มตามไปด้วย
2.ความหลากหลายของบริการ โดยธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน, บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน, บ้านพักผู้สูงอายุ, และบริการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
3.การแข่งขันสูง ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูง
4.โอกาสทางธุรกิจ แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่ตลาดยังมีขนาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตอีกมาก
5.รายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อในการจ้างบริการดูแลผู้สูงอายุ
6.ความตระหนักถึงคุณภาพชีวิต ผู้คนให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้ต้องการบริการดูแลที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุในครอบครัว
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ท้าทายสำคัญของธุรกิจผู้สูงอายุ คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่สูง และธุรกิจผู้สูงอายุจะต้องตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด มีธรรมาภิบาลธุรกิจที่ดี ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐานระดับสากลเพราะธุรกิจนี้จะเป็นทั้งเพื่อน พยาบาล และผู้ดูแลใกล้ชิด ช่วยสร้างความไว้วางใจ ความสบายใจ และความประทับใจแก่ผู้สูงอายุที่ใช้บริการ
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นและเติบโตของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยในการสร้างระบบบริการสุขภาพรองรับผู้สูงอายุทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ เวชศาสตร์ชะลอวัย หรือมาอยู่อาศัยในระยะยาวในวัยเกษียณ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ด้านการดูแลสุขภาพในการมีชีวิตที่ยืนยาว
“ธุรกิจผู้สูงอายุ”หรือ“เนอร์สซิ่งโฮม ” จึงไม่ใช่แค่”ธุรกิจ”แต่เป็นทั้งเพื่อน พยาบาล และผู้ดูแลใกล้ชิด ช่วยสร้างความไว้วางใจ ความสบายใจ และความประทับใจแก่ผู้สูงอายุที่ใช้บริการ ซึ่งการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและปรับตัวของธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลง
รวมทั้งการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนเพื่อเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์หรือฮับ (Medical Hub)ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดึงดูดผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขในประเทศไทย