'คลัง' ตั้ง 'NaCGA' ปลดล็อกเงินทุน หนุน SME รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำ
"คลัง" เตรียมหารือ ธปท. ร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ กลไกหนุนรายย่อย เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งสินเชื่อต้นทุนต่ำลง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้ด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงมากขึ้น
โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยกร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในระยะต่อไป
ทั้งนี้ NaCGA จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐน้อยลง อีกทั้งมีขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันที่มีความหลากหลายและมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่อิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้
โดย NaCGA จะมีเป้าหมายและพันธกิจหลัก ดังนี้
1.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน
ให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดยขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันของ NaCGA จะไม่จำกัดเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคารดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่จะครอบคลุมถึงกระบวนการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ค้ำประกันแหล่งทุนจากสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) การค้ำประกันหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
โดยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs ได้ อีกทั้งการค้ำประกันสินเชื่อของ NaCGA จะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee Approach) และรายสัญญา (Individual Guarantee) ซึ่งลูกหนี้จะขอให้ NaCGA ค้ำประกันเครดิตของตน และเมื่อได้รับการค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกธนาคารหรือ Non-bank ที่ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด ซึ่งจะเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน
นอกจากนี้ เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ครบวงจรและเบ็ดเสร็จ NaCGA จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย
2.เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดัน Strategic Direction ของประเทศตามนโยบายของภาครัฐและสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถก้าวเข้าสู่บริบทโลกใหม่
โดย NaCGA สามารถผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศหรืออุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เช่น 8 อุตสาหกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นต้น ด้วยโครงการหรือผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเครดิตที่มีเงื่อนไขพิเศษ โดยมีคณะกรรมการกำกับนโยบาย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ กำกับนโยบายและทิศทางขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในระยะยาวได้ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถส่งผ่านนโยบายในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านองค์กรนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติและมีความเสี่ยงในระบบการเงินสูง
ด้วยขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันที่หลากหลายกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และด้วยโครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นทั้งในมิติของการกำกับดูแลและแหล่งเงินจากเงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอรับการค้ำประกัน
ทั้งนี้ NaCGA จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการในด้านสภาพคล่องได้อย่างทันการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูง เช่น กรณีที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้น
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพจากการจัดตั้ง NaCGA จะนำไปสู่ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ดังนี้
1.ภาคธุรกิจและประชาชน สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนได้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนมากขึ้น ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบของภาคธุรกิจและประชาชน
2.สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ สามารถลดต้นทุนในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และภาระการดำรงเงินสำรอง อีกทั้งมีแรงจูงใจในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.หน่วยงานภาครัฐ มีเครื่องมือในการส่งผ่านนโยบายให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบการค้ำประกันเครดิตที่หลากหลาย และมีฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิตที่สมบูรณ์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ
4.เศรษฐกิจไทยโดยรวม มีกลไกในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤตที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูง อีกทั้งเป็นกลไกที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนช่วยในการผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ