AMRO ประเมินคาดปี 67 เศรษฐกิจไทยโต 2.8% รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต

AMRO ประเมินคาดปี 67 เศรษฐกิจไทยโต 2.8% รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต

AMRO ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.8% รวมผลโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รับอุปสงค์-ท่องเที่ยวในประเทศฟื้น เบิกจ่ายภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น แนะรัฐลดขาดดุลการคลัง ปฏิรูปจัดเก็บภาษี เร่งดึงลงทุนเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มศักยภาพโตระยะยาว

คณะผู้แทนจาก ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) นำโดย Dr. Kouqing Li ผู้อำนวยการ และ Dr. Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เข้าพบนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2567  เพื่อรายงานผลการสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

AMRO ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.8% ในปี 2567 และ 3.4% ในปี 2568 จากอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศที่ขยายตัวดี ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ปรับสูงขึ้นซึ่งรวมถึงผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปรับลดลงจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 0.7% ในปี 2567 จากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน และราคาอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ที่ลดลง แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% ในปี 2568 ตามผลของมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานที่ทยอยหมดลงและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น

ด้านนโยบายการเงิน AMRO เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า นโยบายการเงินจึงควรพร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากจำเป็น 

ทั้งนี้ AMRO ชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการปรับปรุงกลไกการค้ำประกันสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

แนะลดขาดดุลการคลัง

สำหรับนโยบายการคลัง AMRO เห็นควรให้ทางการลดการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) โดย AMRO ชื่นชมการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง (Medium-term Fiscal Framework) ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดการขาดดุลทางการคลังที่ชัดเจน

โดยการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้นโยบายการคลังมีความพร้อมรับมือกับรายจ่ายจำเป็นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในระยะข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มผลิตผลของภาคเกษตร การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การปรับตัวของภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการยกระดับอุตสาหกรรมเดิม

ทั้งนี้ ไทยจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ตรงจุดและดำเนินการให้ได้ตามแผนมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนพัฒนาต่างๆ ที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งเสริมให้โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วไปสู่การลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง