6 ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ วัดฝีมือ ‘แพทองธาร’ นายกฯ คนใหม่ ฟื้นเชื่อมั่นประเทศ
6 ระเบิดเวลาเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ รับโจทย์ยากเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้สูงทั้งครัวเรือน เอกชน รัฐบาล ส่งออกเริ่มติดลบ ราคาพลังงาน ค่าแรง ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำต้นทุนธุรกิจเพิ่ม พร้อมเร่งแก้ปัญหาสินค้าจีนตีตลาด
มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วม มีมติเสนอชื่อ "แพทองธาร ชินวัตร" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศโดยจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาในวันนี้ (16 ส.ค.67) นี้
แม้ในภาพรวมพรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเป็นเอกภาพในการเสนอชื่อแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเข้ามาบริหารงานในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 6 ข้อที่เสมือนกับระเบิดเวลาเศรษฐกิจที่รออยู่ ได้แก่
1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการบริโภค ภาคการผลิตที่ชะลอตัว รวมทั้งภาคการส่งออกที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.4% ตามการประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี
รวมทั้งเป้าหมายของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตั้งเป้าว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2567 ให้ขยายตัวได้ 3%
2.ภาวะหนี้สูง ทั้งในส่วนของหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคเอกชน และหนี้ของรัฐบาล ในส่วนของหนี้ของภาคครัวเรือน ปัจจุบันคนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก โดยหนี้สูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 90.9% ของจีดีพี
ส่วนหนี้ภาคเอกชนสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูงเป็นเวลานานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าคุณภาพสินเชื่อ หนี้เสีย (NPL) ไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 9.8 พันล้าน หรือเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 2.74% ต่อสินเชื่อรวม
ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ และเมื่อแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME คุณภาพด้อยลงทั้งคู่ โดยหนี้ที่ด้อยลงใน SME มาจากภาคค้าปลีกและค้าส่ง
ขณะที่หนี้ภาครัฐก็ถือว่าอยู่ในภาวะที่ใกล้กับกรอบเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยภายหลัง ครม. มีมติชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มวงเงินดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่งผลให้หนี้สาธารณะปี 2567 เพิ่มเป็น 65.7% ของจีดีพี และปี 2571 เพิ่มเป็น 68.6% ใกล้เพดานที่ 70% ของจีดีพี
3.ความท้าทายของภาคการส่งออก จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ภาคการส่งออกซึ่งมีผลต่อจีดีพีไทยมากจะได้รับผลกระทบช่วงที่เหลือของปี
ทั้งนี้การส่งออกในเดือนมิ.ย.เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวโดยมีมูลค่า 24,769.6 ล้านดอลลาร์ หดตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 24,578.5 ล้านดอลลาร์ เกินดุล 218 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
ส่วนภาพรวม 6 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 145,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 150,532.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3% ดุลการค้า 6 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านดอลลาร์ราคาพลังงาน
4.ปัญหาราคาพลังงาน รัฐบาลใหม่จะต้องรับมือกับความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลกเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อราคาค้าปลีกน้ำมันในประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าในงวดต้นปี 2568 ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากราคาก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
สำหรับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับขึ้นตามสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และดีมานด์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเดือนส.ค.-ก.ย.ปีนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช่วงฤดูขับขี่ในสหรัฐ และอุปทานที่ยังตึงตัวจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+
จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) มองความต้องการใช้น้ำมันไตรมาส 3 ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเทศกาลท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันตก โดยความต้องการใช้น้ำมันไตรมาส 3 ปีนี้ อาจจะมีจุดสูงสุดของราคาที่ระดับ 104.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อดอลลาร์ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567
รับมือสินค้าจีนตีตลาดไทย
5.ปัญหาสินค้าจากต่างประเทศตีตลาดไทย ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาท้าทายของรัฐบาลที่จะเข้ามาทำงานโดยเฉพาะการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนของไทยมาก
ทั้งนี้คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สรุปข้อมูล 6 เดือนแรกของปี 2567 นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.66% (YoY) ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม
อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
6.การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรัฐบาลได้มีการประกาศว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปีนี้เป็น 400 บาทต่อวัน ในวันที่ 1 ต.ค.2567 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนำร่องใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือว่าเป็นความท้าทายเนื่องจากผู้ประกอบการจะมีต้นทุนในการประกอบการเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบในปัจจุบัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์