กุ้งไทยรอทวงคืนตลาดสหรัฐ ลุ้นประกาศใช้ AD กับ4ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่
สมาคมกุ้งไทย ลุ้นผลสหรัฐใช้มาตรการทุ่มตลาด 4 ประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ คว้าโอกาสกุ้งไทยผงาดอีกครั้ง แนะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนใช้ชีวภัณฑ์แทนยา
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยซึมยาว เจอโรคกุ้งรุมเร้ากว่า 10 ปี ซ้ำเอกวาดอร์โอเวอร์ซับพลาย ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหาโรคระบาด 4 โรคหลัก ที่พบบ่อยในประเทศไทย คือโรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาวอีเอชพี (EHP) และโรคแคระแกร็น (IHHNV)
ส่งผลให้ไทยที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งทะเลเบอร์ 1 ของโลก ผลผลิตเคยสูงสุดที่ 640,000 ตัน เมื่อปี 2553 แต่ด้วยผลกระทบจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะ EMS ทำให้ตั้งแต่ปี 2555 ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยลดลง คาดการณ์ว่าปี 2567 นี้ ผลผลิตกุ้งไทยจะผลิตได้ประมาณ 300,000 ตัน หรือลดไปถึงมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยทำได้มากที่สุด
โดยปกติสถานการณ์กุ้งตกต่ำเกิดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว อันเป็นผลจากผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่ออกพร้อมกันทั้งประเทศ แต่เกษตรกรก็ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาจนกระเตื้องขึ้นได้ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก ทั้งพิษเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีออร์เดอร์ลดลง ผลพวงจากภาวะสงคราม ค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นเกิน 100% กำลังซื้อจึงลดลง
ขณะเดียวกัน ก็เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลูกค้าสำคัญ กุ้งทั่วโลกจึงมิใคร่ได้ราคานัก แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกุ้งไทยและกุ้งโลก และจะส่งกระทบไปอีกค่อนข้างยาวนาน
“ขณะนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคากุ้งไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เกิดจากเอกวาดอร์โอเวอร์ซับพลาย ผลิตกุ้งออกสู่ตลาดโลกจำนวนมากถึง 1,200,000-1,500,000 ตัน ต้นทุนต่ำจากการที่มีพื้นที่เลี้ยงค่อนข้างมาก จึงสามารถปล่อยเลี้ยงบางได้ ทำให้ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องโรค”
ขณะที่คนในประเทศกว่า 10 ล้านคน ก็ไม่นิยมบริโภคกุ้งนัก ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า สถานการณ์กุ้งไทยจะดีขึ้นเมื่อไร อาจต้องรอให้ผลผลิตเอกวาดอร์ลดลง โดยที่ไทยไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นสถานการณ์โอเวอร์ซับพลายจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยบวกสำหรับกุ้งไทย เมื่อประเทศคู่แข่ง 4 ประเทศ อย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถูกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พิจารณาไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD, CVD) สินค้ากุ้ง ที่จะประกาศผลปลายปีนี้ หากผลสอบสวนออกมาว่าทั้ง 4 ประเทศ มีการทุ่มตลาดส่งออกกุ้งไปยังตลาดอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรม อาจส่งผลให้ทั้ง 4 ประเทศ โดนเรียกเก็บภาษี AD,CVD สูงถึง 10% ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทย
“ปีนี้ผลผลิตน่าจะไม่มากจากปีที่แล้ว โดยรวมน่าจะประมาณ 300,000 ตัน ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องเพิ่มความสามารถในการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ให้ต้นทุนต่ำ ทั้งใช้ชีวภัณฑ์เพิ่ม ใช้ยาให้น้อยลง โดยเฉพาะการป้องกันโรค ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กุ้งไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น
ขณะที่หน่วยงานที่สนับสนุนด้านการป้องกันโรค ก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ พวกสายป่านยาวหรือมีห้องเย็นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เกษตรกรรายกลางและรายย่อยอาจลำบาก ถ้าไม่พัฒนาคุณภาพ ส่วนเรื่องต้นทุนตัวอื่นเราก็พอสู้คู่แข่งได้ เมื่อลดความเสียหายจากโรคได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกรายต้นๆ ของโลกได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อกุ้งไทย ไม่ว่าจะเป็นหากทั้ง 4 ประเทศ ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด หรือถึงแม้กุ้งทั้ง 4 ประเทศ จะโดนภาษีทุ่มตลาด ก็ไม่แน่ว่าจะราคาจะต่ำกว่ากุ้งไทย แล้วจะรู้ได้อย่างไร เมื่อเขาโดนภาษีแล้ว จะไม่ดัมพ์ราคาขายให้ต่ำลงไปอีก เพื่อจะได้ถูกเก็บภาษีลดลง เสมือนยอมขาดทุนกำไร เพื่อนำไปจ่ายค่าภาษี เพราะผลผลิตเขามากกว่าไทยหลายเท่าตัว ทีนี้กุ้งไทยก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างจากปัจจุบัน