ว่าด้วยกับดักรายได้ปานกลางอีกครั้งหนึ่ง

ว่าด้วยกับดักรายได้ปานกลางอีกครั้งหนึ่ง

‘กับดักรายได้ปานกลาง’ฟังดูเหมือนเรื่องเก่าที่พูดกันมานาน ยังจะมีอะไรใหม่อีกหรือ บทความนี้จะขอชวนพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ยังไม่อยากให้ปล่อยวาง

 เพราะวันนี้ประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในกับดักนี้ เป้าหมายที่จะบรรลุการเป็นประเทศรายได้สูงก็ยังเห็นไม่ชัดนัก และดูเหมือนหนทางจะยาวไกลกว่าเดิม

รายงานWorld Development Report 2024 ของธนาคารโลกได้วิเคราะห์ถึงกับดักรายได้ปานกลางตามนิยามของธนาคารโลกในภาวการณ์ปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ปัจจุบันมีประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ 54 ประเทศ มีมูลค่าจีพีดีรวมกันประมาณ30% ของจีดีพีโลก โดยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา มี 34 ประเทศที่สามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งประเทศไทยยังไม่ใช่หนึ่งในนั้น

รายงานฯ ระบุว่า หนทางในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสองขั้นตอน หนึ่งคือต้องมีการลงทุนควบคู่ไปกับการทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และสองคือต้องเสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อต่อยอดสอดรับกับเทคโนโลยีในโลก และในที่สุดก็จะสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเองด้วย โดยรายงานฯ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่าการจะถีบตัวขึ้นไปต้องมี ‘3i’ โดยเริ่มจาก การลงทุน (invest) การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้แพร่หลาย (infuse) และ การใช้นวัตกรรมนำเศรษฐกิจ (innovation) ถึงตรงนี้ เราคงเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง น่าจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านขั้นที่สองแล้ว แต่ยังมีส่วนของ ‘i’ สองตัวแรก ที่ยังคงต้องเติมเต็มอยู่ด้วย

ในการเปลี่ยนผ่านขั้นที่สองนั้น รายงานฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ ‘การศึกษา’ ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ และยังกล่าวถึงการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สนใจที่จะทำงานในประเทศ ไม่เกิดปัญหาสมองไหล ในความเห็นของผู้เขียน แรงจูงใจดังกล่าวไม่ใช่แค่ปัจจัยทางการเงินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ในการทำงานที่เอื้ออำนวย โอกาสในการทำงานร่วมและได้นำงานวิจัยไปใช้กับภาคการผลิตจริง และความน่าอยู่ของประเทศนั้นด้วย รายงานฯ ยังได้กล่าวถึงความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งประเทศที่ทะลุขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงในอดีตไม่เคยต้องเผชิญ นั่นคือ ‘พลังงานสะอาด’ และ ‘การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข่าวร้ายสำหรับกลุ่มประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางในปัจจุบันนี้ คือการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากกว่าในอดีต ทั้งปัญหาจากโควิด 19 และภูมิรัฐศาสตร์โลก อีกทั้งช่องว่างทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็แคบลงมากจากการใช้จ่ายเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่ผ่านมา หนี้สาธารณะก็พุ่งสูงขึ้น ประเทศไทยเองก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศรายได้ปานกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้ต่อหัวประชากรที่คิดเป็นประมาณ 5% ถึง 25% ของรายได้ต่อหัวประชากรสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะประสบกับการถดถอยของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งรายได้ต่อหัวประชากรของไทยอยู่ที่ประมาณ 25% ของสหรัฐ

มีย่อหน้าเล็กๆ ในรายงานฯ ที่ตรงใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก คือส่วนที่กล่าวถึง ‘คุณภาพของสถาบัน (institutions)’ และ ‘ความเสี่ยงของการติดกับดักรายได้ปานกลาง’ หากคุณภาพของ institutions ของประเทศไม่ดี จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการสร้างนวัตกรรม รวมถึงทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีความบิดเบือน และผลตอบแทนของกิจการต่ำลง ผู้เขียนดีใจที่ได้เห็นการตอกย้ำความสำคัญของเรื่องนี้ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกครั้งหนึ่งในรายงานฯ ฉบับนี้ของธนาคารโลก

รายงานฯ ได้ให้ความสำคัญกับความท้าทายใหม่ด้าน ‘พลังงานสะอาด’ และ ‘การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ เป็นอย่างมาก โดยผู้เขียนสนใจประเด็นที่ระบุว่า ‘ประเทศต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้เล่นรายใหญ่ซึ่งมักจะเป็นผู้มีเทคโนโลยี ครอบงำตลาดและกีดกันผู้เล่นรายใหม่โดยใช้นโยบายและกฎระเบียบของรัฐเป็นเครื่องมือ’ ในปัจจุบันที่โลกให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเด็น climate change รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วทยอยออกมาเพื่อเร่งการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประเทศรายได้ปานกลางจะต้องระวังไม่ติดกับดักของการครอบงำตลาด จนทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้ทันท่วงที

อย่างที่เกริ่นแต่ต้น ว่ากับดักรายได้ปานกลางไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วันนี้ที่สภาวการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากวันที่เราขยับขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง โจทย์จึงไม่ง่าย เราได้ฟังผู้กำหนดนโยบายหลายชุดบอกว่านโยบายนี้นั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 5% ต่อปี แล้วประเทศไทยก็จะได้เป็นประเทศรายได้สูงภายในเวลาเท่านี้เท่านั้นปี จนถึงวันนี้สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี รายงานของธนาคารโลกบอกว่า ถึงแม้หนทางข้างหน้าของประเทศรายได้ปานกลางจะดูยากลำบาก แต่ปาฏิหาริย์สร้างได้

ผู้เขียนเชื่อว่าปาฏิหาริย์สร้างได้จากการปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกอนาคตเพื่อสร้างคนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ การขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นผลทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐานพัฒนาประสิทธิภาพสถาบันและกฎหมายกฎระเบียบอย่างจริงจัง ควรต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนเพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่อาจจะหยุดรอเราได้