“โอเวอร์ซัพพลายสินค้ากุ้ง”ทุบส่งออก ไทยลุ้นสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้รายใหญ่
สมาคมกุ้งไทย ลุ้นผลสหรัฐใช้มาตรการทุ่มตลาด 4 ประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ คว้าโอกาสกุ้งไทยผงาดอีกครั้ง แนะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนใช้ชีวภัณฑ์แทนยา
อุตสาหกรรมกุ้งไทยเผชิญปัจจัยรุมเร้าทำให้ผลผลิตและการค้าไม่อยู่ในสถานะท็อปฟอร์มเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูงโดยปี 2566 การส่งออกกุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป มีมูลค่า 1,001 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออก 6 เดือนแรกปี 2567 มูลค่า 418 ล้านดอลลาร์
สาเหตุสำคัญที่อุตสาหกรรมนี้ยังไม่พ้นความยากลำบากคือ ปัจจัยสำคัญมาจากการโรคกุ้งรุมเร้ากว่า 10 ปี ได้แก่ 4 โรคหลัก ที่พบบ่อยในประเทศไทย คือโรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาวอีเอชพี (EHP) และโรคแคระแกร็น (IHHNV)
นอกจากนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างประเทศเอกวาดอร์อยู่ในภาวะโอเวอร์ซับพลายช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งทะเลเบอร์ 1 ของโลก ด้วยปริมาณผลผลิตสูงสุดที่ 640,000 ตัน เมื่อปี 2553 ต้องอยู่ในภาวะผลผลิตไม่ถึงครึ่งจากช่วงที่เคยทำได้มากที่สุด ตั้งแต่ปี 2555 ที่ผ่านมาผลผลิตกุ้งไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2567 คาดว่าผลผลิตกุ้งไทยประมาณ 300,000 ตันเท่านั้น ทั้งที่ปริมาณซัพพลายในตลาดลดลงแต่พบว่าราคากุ้งไทยไม่ได้สูงอย่างที่ควร
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก ทั้งพิษเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ และยังมีปัจจัยปริมาณซัพพลายกุ้งจากประเทศเอกวาเดอร์ นอกจากนี้ด้านขีดความสามารถหรือกำลังซื้อของผู้บริโภค ก็ต้องเผชิญปัจจัยลบจากภาวะสงคราม ราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อ
กุ้งล้านตันจากเอกวาดอร์บุกโลก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่น่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกุ้งไทยและกุ้งโลก และคาดว่าจะเป็นกระทบไปอีกค่อนข้างยาวนาน เอกวาดอร์โอเวอร์ซับพลาย เพราะผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดโลกจำนวนมากถึง 1,200,000-1,500,000 ตัน และต้นทุนต่ำจากการที่มีพื้นที่เลี้ยงค่อนข้างมาก ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องโรค จึงทำให้เอกวาดอร์มีศักยภาพบุกตลาดโลกได้อย่างมีแต้มต่อที่มากกว่าคู่แข่งหลายเท่าตัว
“หากหันมาประเมินตลาดในประเทศก็พบว่า คนในประเทศกว่า 10 ล้านคน ไม่นิยมบริโภคกุ้งทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์กุ้งไทยจะดีขึ้นเมื่อไร อาจต้องรอให้ผลผลิตเอกวาดอร์ลดลง โดยที่ไทยไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นสถานการณ์โอเวอร์ซับพลายจากต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยบวกสำหรับกุ้งไทย เมื่อประเทศคู่แข่ง 4 ประเทศ อย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถูกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ พิจารณาไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping – AD) และการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing duties – CVD) ที่จะประกาศผลปลายปีนี้
คาดภาษีมาตรการตอบโต้สูงถึง10%
หากผลสอบสวนออกมาว่าทั้ง 4 ประเทศ มีการทุ่มตลาดส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม อาจส่งผลให้ทั้ง 4 ประเทศ โดนเรียกเก็บภาษี AD,CVD สูงถึง 10%
“หากทั้ง 4 ประเทศ ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด หรือถึงแม้กุ้งทั้ง 4 ประเทศ จะโดนภาษีทุ่มตลาด ก็ไม่แน่ว่าจะราคาจะต่ำกว่ากุ้งไทย แล้วจะรู้ได้อย่างไร เมื่อเขาโดนภาษีแล้ว จะไม่ดัมพ์ราคาขายให้ต่ำลงไปอีก เพื่อจะได้ถูกเก็บภาษีลดลง เสมือนยอมขาดทุนกำไร เพื่อนำไปจ่ายค่าภาษี เพราะผลผลิตเขามากกว่าไทยหลายเท่าตัว ทีนี้กุ้งไทยก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างจากปัจจุบัน”
ดังนั้น ปีนี้ผลผลิตน่าจะไม่เพิ่มมากไปกว่าปีที่แล้ว โดยรวมคาดว่าจะประมาณ 300,000 ตัน ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องเพิ่มความสามารถในการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ให้ต้นทุนต่ำ ทั้งใช้ชีวภัณฑ์เพิ่ม ใช้ยาให้น้อยลง โดยเฉพาะการป้องกันโรค ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กุ้งไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น
สหรัฐตรวจสอบ 4 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่
ขณะที่หน่วยงานที่สนับสนุนด้านการป้องกันโรค ก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ ทั้งนี้กลุ่มที่มีสายป่านยาวหรือมีห้องเย็นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เกษตรกรรายกลางและรายย่อยอาจลำบาก ถ้าไม่พัฒนาคุณภาพ ส่วนเรื่องต้นทุนด้านอื่นๆถือว่าพอสู้คู่แข่งได้ หากลดความเสียหายจากโรคได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกรายต้นๆ ของโลกได้อีกครั้ง
รายงายข่าวจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ระบุว่า คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ (US International Trade Commission) ลงมติให้ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้ากุ้งน้ำอุ่นแช่แข็งที่นำเข้าจากเอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อพิจารณาว่าสหรัฐ ควรบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการตอบโต้การอุดหนุน ( CVD) หรือไม่
โดยการลงมติของกรรมาธิการฯ เกิดขึ้นหลังได้รับข้อร้องเรียนจากสมาคมผู้แปรรูปกุ้งแห่งอเมริกา (American Shrimp Processors Association) ซึ่งอ้างว่าการนำเข้ากุ้งจากประเทศเหล่านี้ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมกุ้งภายในประเทศ โดยได้แย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตในประเทศ ตัดราคา และเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้แปรรูปกุ้งและทำประมงกุ้งภายในประเทศ การนำเข้าที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมในสหรัฐ เข้าสู่ภาวะวิกฤต
“ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2566 มีการลงมติให้คงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD สำหรับกุ้งที่นำเข้าจากอินเดีย จีน ไทย และเวียดนามต่อไป”
ไทยยังโดนภาษีเอดี 0.57-5.34%
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ (USITC) ได้ประกาศผลการลงคะแนนเสียงพิจารณาทบทวนการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กุ้งน้ำอุ่นแช่เยือกแข็ง ที่นำเข้าจากอินเดีย จีน ไทย และเวียดนาม หรือ Sunset Review รอบที่ 3 หลังจากใช้มาตรการมาแล้วครบ 3 รอบ ๆ ละ 5 ปี หรือใช้มาตรการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีมติไม่ยกเลิกเก็บอากรเอดี เพราะการยกเลิก จะสร้างความเสียหายของผู้เลี้ยงกุ้ง และอุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐ ให้เกิดขึ้นได้
ดังนั้น สินค้าจาก 4 ประเทศ ยังต้องเสียอากรเอดีในการนำเข้าสหรัฐ ต่อไปอีก 5 ปี จนกว่าจะพิจารณาทบทวนรอบที่ 4 ในเดือน มิ.ย. 2571 ซึ่งในส่วนของไทยล่าสุดเสียอากรเอดีที่ 0.57-5.34% จากอัตราที่จัดเก็บครั้งแรกที่ 5.29-6.82%
สำหรับการทบทวนรอบที่ 3 อุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐ และ นักการเมือง 5 รายจากรัฐเลี้ยงกุ้ง ได้แก่ หลุยส์เซียนา มิสสิสซิปปี และเท็กซัส ได้ยื่นคำร้องต่อ USITC เพื่อให้ขยายเวลาการเก็บภาษีอากรต่อไป โดยให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐ ไม่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับกุ้งนำเข้าจาก 4 ประเทศ ที่ยังวางขายในราคาต่ำกว่ากุ้งที่ผลิตได้ในสหรัฐ หาก USITC ยกเลิกการเก็บภาษี จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะกุ้งนำเข้าจะบีบให้กุ้งที่ผลิตในสหรัฐ ต้องลดราคาลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ และอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐ อาจล้มละลาย