‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

การทางฯ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ลุยประมูล 2 โปรเจกต์ ด่วนเกษตร และด่วนภูเก็ต หลังผลักดันโครงการเรือธง ลงนามสร้างทางด่วนสายใหม่ ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา 1.8 หมื่นล้าน ขณะที่ “อิตาเลียนไทย” จี้รัฐบาลเร่งโครงการรัฐ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ปีที่ผ่านมางานประมูลล่าช้า

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า แผนลงทุนโครงการทางพิเศษในปีนี้ กทพ.เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เดินหน้าประมูล 2 โครงการที่มีความพร้อม ประกอบด้วย โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ คาดใช้วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และมีความพร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มกระบวนการเปิดประกวดราคา โดยหากดำเนินการตามแผนข้างต้น กทพ.ประเมินว่าทั้งสองโครงการจะสามารถลงนามสัญญาจ้างเอกชนในปีนี้ และตอกเสาเข็มเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2569 เป็นอีกส่วนสำคัญด้านการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่ล่าสุด วันนี้ (22 ส.ค.67) กทพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ซึ่งเป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 โดยโครงการมีระยะทาง 16.21 กิโลเมตร วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการให้บริการด้านการจราจรและขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนา และการเจริญเติบโตของพื้นที่ตัวเมือง ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร อย่างรวดเร็ว

‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถรองรับการขนส่ง และการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ด้าน การสร้างความสามารถในการแข่งขัน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570

โดยรายละเอียดโครงการฯ เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 0+000 ของโครงการฯ ถึง กม. 14+000 ของโครงการฯ ระยะทางประมาณ 16.21 กิโลเมตร รวมทางขึ้น-ลง โดย กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทาง 20 – 45 บาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากลงนามวันนี้ คาดว่าจะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ไม่เกินปลายปีนี้ โดยเอกชนจะสามารถเริ่มก่อสร้างส่วนแรกในพื้นของหน่วยงานรัฐทันที โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก เป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง จึงคาดว่าจะสามารถเจรจา และเริ่มงานก่อสร้างส่วนนี้ก่อนได้ เพื่อให้โครงการทางด่วนสายนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปลายปี 2570 เร็วกว่าแผนกำหนด 6 เดือน

‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการทางด่วนสายนี้ กทพ.จะใช้เงินลงทุนราว 1.86 หมื่นล้านบาท โดย กทพ. จะใช้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 4 - 5 พันล้านบาท จะจัดสรรจากเงินกู้ ซึ่งได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจัดหาแล้ว เบื้องต้นพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด เนื่องจาก กทพ.มีผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนของงานติดตั้งระบบทางด่วน คาดว่าจะใช้วงเงินราว 1 พันล้านบาท

ด้านนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโสกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง โครงการนี้เป็นทางพิเศษยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร โครงสร้างเป็นรูปแบบ Slab on Girder ส่วนโครงสร้างเสาเป็นเสาเดี่ยว ก่อสร้างบนระบบฐานราก ที่เป็นเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่  ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ ในการก่อสร้างทางยกระดับประเภทนี้มานาน จำนวนหลายโครงการต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทฯ มีความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งวิศวกร และทีมงานที่มีประสบการณ์ และความชำนาญสูง และมีการจัดหาเครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสม สำหรับการก่อสร้าง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตที่มีคุณภาพสูง สำหรับใช้งานก่อสร้าง โดยบริษัทฯ จะยึดมั่นในมาตรฐานการทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ มีความพร้อม ในการทำงานทุกด้าน

“เรื่องสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ ขณะนี้คลี่คลายแล้ว และการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ได้เจรจารับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ดังนั้นมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ จะสามารถเดินหน้างานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด”

‘การทางพิเศษ’ เสนอรัฐบาลใหม่ ดันลงทุน 2 ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ คาดว่าในปีนี้จะได้ลงนามสัญญาจ้างงานใหม่ส่วนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐรวม 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษ ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา และโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งคาดว่าจะได้ลงนามใน 2 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) สะสมอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในฐานะภาคเอกชนคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งประมูลโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าโครงการประมูลงานรัฐล่าช้ากว่าแผน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์