IPEF Pillar II กับความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนของไทย

IPEF Pillar II กับความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนของไทย

ภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีความอ่อนไหวมากขึ้น สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ในปี 2565 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

IPEF มี 14 ประเทศเข้าร่วมเจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินเดีย ฟิจิ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

 

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ประกอบด้วยความร่วมมือภายใต้ 4 เสาหลัก (Pillars) ได้แก่ เสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า (Trade) เสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy)

ทั้งนี้ IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ครอบคลุมประเด็นการเข้าถึงตลาด (Market Access) และไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรี

บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน ที่ประเทศสมาชิกลงนามกันไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ถือเป็นความตกลง IPEF ฉบับแรกที่เสร็จสมบูรณ์ โดยแต่ละประเทศอยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบัน

สำหรับ IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทาน มีแนวคิดมาจากปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruptions) จากการกระจุกตัวการผลิตในบางภูมิภาคหรือบางประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

เช่น ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเองในวิกฤตโควิด-19 และการกระจุกตัวการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยปัญหาภาวะชะงักงันนี้อาจเกิดมากขึ้นหากเกิดสงครามการค้า-เทคโนโลยี หรือภัยธรรมชาติ

หลายประเทศได้ลดความเสี่ยง โดยใช้กลยุทธ์ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ หรือไปยังประเทศมิตรเพื่อลดการพึ่งพาประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น ญี่ปุ่นออกนโยบายสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหรือย้ายไปลงทุนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ประเทศสมาชิกจะร่วมกันกำหนดสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ และสินค้าหลักหรือสินค้าที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของซัพพลายเชนระหว่างประเทศ เพื่อทำให้ซัพพลายเชนของสินค้าหลักหรือสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

IPEF ยังกำหนดให้มีกลไกประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 2 หน่วยงานคือ คณะมนตรีซัพพลายเชน (IPEF Supply Chain Council) และเครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤตซัพพลายเชน รวมทั้งยังกำหนดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน” ขึ้นมาดูแลประเด็นสิทธิแรงงานด้วย

สำรวจโอกาส ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมไทยจากการเข้าร่วม

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนเข้ากับตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยอยู่ในซัพพลายเชนระหว่างประเทศในสินค้าหลายประเภทและเคยประสบปัญหามาแล้ว

การเข้าร่วม IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทานจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าจากการแลกเปลี่ยนกับประเทศสมาชิก และมีโอกาสกำหนดวาระรวมทั้งมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน และอาจได้รับประโยชน์หากประเทศสมาชิกต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

คณะผู้วิจัย TDRI โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สำรวจปัญหา โอกาส และความเสี่ยงจากการเข้าร่วม IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทานในบางอุตสาหกรรมที่อาจถูกกำหนดเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญในเสาหลักที่ 2 ดังนี้

ยานยนต์และชิ้นส่วน ปัญหาขาดบางชิ้นส่วนทำให้การผลิตชะงัก ซึ่งโอกาสจากการเข้าร่วมจะส่งผลให้มีโอกาสดึงดูดการลงทุนในสินค้าหลักบางรายการ เช่น แบตเตอรี่ได้ ส่วนความเสี่ยงต่อประเทศไทยนั้นน่าจะมีไม่มาก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตสินค้าหลักที่มีความเสี่ยงของซัพพลายเซน

ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาการขาดแคลนชิปเคยส่งผลกระทบการผลิตในหลายอุตสาหกรรม IPEF อาจช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในทางอ้อมจากความโปร่งใสในซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยการวางแผนลดการขาดแคลนชิปได้ ส่วนความเสี่ยงจากการที่การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กระจุกตัวในระดับสูงในไทย อาจมีความเสี่ยงจากการถูกกระตุ้นให้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยบ้าง แต่น่าจะไม่มาก เพราะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่น่าจะเป็นสินค้าหลัก

ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การขาดแคลนสินค้าบางรายการเช่น วัคซีน ยา และ PPE ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสุขภาพในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยการเข้าร่วม IPEF อาจทำให้ไทยได้รับการจัดสรรสินค้าที่เคยขาดแคลนในช่วงเกิดโรคระบาด และอาจมีโอกาสเป็นฐานการผลิต การทดลองทางคลีนิกและการวิจัยด้านวัคซีน โดยไม่น่าจะมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต เพราะปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตสำคัญ

กล่าวโดยสรุป ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม IPEF Pillar II หลายประการ คือ

1.ไทยสามารถร่วมกำหนดกลไกในการพัฒนาซัพพลายเชน ซึ่งอาจช่วยให้รัฐบาลและผู้ประกอบการในไทยได้รับทราบข้อมูลโดยเร็ว และสามารถเตรียมการปรับตัวและรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ แรงงาน และผู้บริโภคในประเทศได้

2. ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน เช่น เครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤตซัพพลายเชน

3. ไทยมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนในการผลิตสินค้าหลักจากทั้งประเทศสมาชิก IPEF และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก  

4. ไทยอาจใช้ IPEF เป็นช่องทางเพิ่มเติมในการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทย ทั้งในรูปภาษีศุลกากรและที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เพื่อทำให้ซัพพลายเซนของสินค้าหลักหรือสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก IPEF ไทยควรบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน

นอกจากนี้หน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของผู้แทนไทยในคณะมนตรีซัพพลายเชน และเครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน ควรเน้นการทำงานเชิงรุก โดยเร่งจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตที่สำคัญใน IPEF และอาจมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรพิจารณาทบทวนกฎระเบียบในประเทศ เพื่อให้เกิดกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลทางธุรกิจ ในขณะที่ยังสามารถคุ้มครองข้อมูลลับและข้อมูลอ่อนไหว โดยมีกลไกจัดทำมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลลับและข้อมูลอ่อนไหวดังกล่าว เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากกรอบความร่วมมือนี้

ติดตามบทความเกี่ยวกับเสาความร่วมมือที่ 3 Clean Economy และเสาความร่วมมือที่ 4 Fair Economy ได้ในตอนต่อไป