‘สุริยะ’ สั่งเปิดศูนย์ติดตามภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง ยันสนามบินไม่กระทบ
“สุริยะ” สั่งเปิดศูนย์ Command Center ติดตามภัยพิบัติ พร้อมเข้าช่วยเหลือ - อำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง ทอท. - ทย. ยันสนามบินไม่ได้รับผลกระทบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วมฉับพลัน) น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น ตนได้มอบหมายและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสั่งเปิด “ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม” ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ สั่งการ รับแจ้งเหตุ ประสานข้อมูลการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงฯ เพื่อบูรณาการการรายงานผลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมถุงยังชีพ และของใช้จำเป็น เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแล และอำนวยความสะดวกการสัญจรบนเส้นทางการจราจรต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกหน่วยงานรายงานความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันที เพื่อเตรียมแผนรับมือและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง (ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567) ได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน พะเยา เชียงราย และแพร่ รวม 13 แห่ง 8 สายทาง การจราจรสามารถผ่านได้ 3 แห่ง และผ่านไม่ได้อีก 10 แห่ง ทั้งนี้ ในทุกจุดที่เกิดเหตุนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานการณ์การสัญจรกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางมีความปลอดภัยระดับสูงสุด ขณะเดียวกัน ทล. ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เพื่อลงพื้นที่เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งมาที่สายด่วน ทล. โทร. 1586 ฟรีตลอด 24 ชม.
ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รายงานว่าขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าลงพื้นที่โดยทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ป้ายเตือน หลักนำทาง สะพานเบลีย์ และยานพาหนะให้มีความพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับเส้นทางการสัญจรภายใต้การดูแลนั้น การจราจรสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว หลังจากที่มีน้ำท่วมและเกิดเหตุดินสไลด์ 6 สายทาง และยังไม่สามารถใช้สัญจรได้ 13 เส้นทาง ซึ่งทุกจุดนั้นมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเส้นทางเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รายงานว่า จากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มนั้น ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้จัดเตรียมแผนการรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. โดยการขุดลอกระบบระบายน้ำแบบเปิด ซึ่งเป็นคูระบายน้ำโดยรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำด้านทิศเหนือที่ใช้บริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และมีการตรวจสอบประตูน้ำว่าสามารถใช้งานได้ปกติ
นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบกายภาพ และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบพร้อมประเมินสถานการณ์และรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึงยารักษาโรคใน “ถุงยังชีพ” ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาภัยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในพื้นที่ ขณะเดียวกันท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการยังชีพในเบื้องต้น และหลังจากนั้นจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป
ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) นั้น ได้ส่งบุคลากรเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดเตรียมเรือตรวจการณ์ รถยนต์ และสิ่งของต่าง ๆ ไปมอบให้ผู้ประสบภัย และเข้าร่วมศูนย์ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยของ ปภ. อำเภอเมือง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี
นายดนัย เรืองสอน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานได้กำชับให้ท่าอากาศยานในสังกัดทุกแห่ง โดยเฉพาะ ท่าอากาศยานแพร่ น่านนคร และพิษณุโลก เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการตรวจเช็คอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เตรียมความพร้อมในการรับมือล่วงหน้า ทั้งการดำเนินการลอกท่อระบายน้ำ กำจัดวัชพืชบริเวณทางน้ำไหล เพื่อการระบายน้ำอย่างคล่องตัว และให้รายงานข้อมูลหากเกิดสถานการณ์มายังส่วนกลางตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน
นอกจากนี้ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น หอบังคับการบิน สายการบิน สํานักงานอุตุนิยมวิทยา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ เตรียมความพร้อมกรณีเกิดสาธารณภัย เพื่อแก้ไขสถานการณ์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายแห่ง ซึ่งต้องฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ ภาคเหนือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และภาคใต้ 8 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล