"พาณิชย์ "เผย เกษตรกรนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันธุรกิจมูลค่ากว่า 145 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือธกส.ขึ้น ‘เชียงราย’ เติมความรู้หลักประกันทางธุรกิจให้เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ หวัง!! เกษตรกรใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดกิจกรรม ‘ส่งเสริมหลักประกัน สานฝันธุรกิจไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดพระธาตุจอมแว่ อ.พาน จ.เชียงราย ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ผนึกกำลังกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจและโครงการธนาคารต้นไม้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อเสริมความรู้เรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในพื้นที่มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.
โดยกิจกรรมฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการธนาคารต้นไม้ การขอสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ และการให้ความรู้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใน การนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และการเสวนา หัวข้อ “ไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยมีเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 120 ราย
นางอรมน กล่าวว่า การลงพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย ในครั้งนี้สืบเนื่องจาก ปี 2567 เป็นปีมหามงคลของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุครบ 72 พรรษา และพระองค์ทรงได้ สืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ให้รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่ให้ถูกทำลายต่อไป จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอย พื้นที่ทำกินของราษฎร ให้การช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงพื้นที่เพื่อต่อยอดและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นและอนุรักษ์ป่าไม้ สร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็นพื้นที่สีเขียว ช่วยเพิ่มออกซิเจนและโอโซนให้อากาศสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกป่า
โดยกิจกรรม ‘ส่งเสริมหลักประกัน สานฝันธุรกิจไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ จะเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง และเมื่อต้องการใช้เงินเพื่อต่อยอดทำธุรกิจหรือดำรงชีวิตประจำวัน ก็สามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
นางอรมน กล่าวว่า ไม้ยืนต้นทุกประเภท (ไม่ได้จำกัดเพียง 58 ประเภท) สามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ตามข้อตกลงระหว่างผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) กับ ผู้ให้หลักประกัน (เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้น) ซึ่งไม้ยืนต้นที่ปลูกยังคงอยู่บนพื้นที่ของตนเอง เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นไปต่อยอดสร้างรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ซื้อไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกของตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ และสอดรับกับกระแสการดำเนินธุรกิจของโลกอนาคต
“ตั้งแต่ที่มีการออกกฎกระทรวงให้สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ในปี 2561 จนถึงในปัจจุบัน มีการจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจจนถึงปัจจุบันจำนวน 154,470 ต้น มูลค่ารวม 145 ล้านบาท ใน 22 จังหวัดมีจังหวัดภาคเหนือเพียง 4 จังหวัดคือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุทัยธานี ซึ่งยังขาดเชียงราย “ นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯและ ธ.ก.ส. จะร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อการออม อนุรักษ์ เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2567) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 154,470 ต้น มูลค่ารวม145,032,453.04 บาท แบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 23,000 ต้น วงเงิน 128 ล้านบาท ธ.ก.ส. 1,482 ต้น วงเงิน 10,738,561.12 บาท และ กลุ่มพิโกไฟแนนซ์ 129,988 ต้น วงเงิน 6,293,891.92 บาท
จังหวัดที่ผู้ประกอบธุรกิจ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อมีจำนวนทั้งสิ้น 22 จังหวัด (แบ่งพื้นที่ตามคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ประกอบด้วย ภาคเหนือ (4 จังหวัด) พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (9 จังหวัด) ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ภาคตะวันออก (2 จังหวัด) ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ภาคตะวันตก (4 จังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และ ภาคใต้ (3 จังหวัด) ชุมพร พังงา พัทลุง
ประเภทไม้ยืนต้นที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เช่น มะขาม มะกอกป่า สะเดา มะม่วง ยาง สัก ขนุน ยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) เกษตรกร และประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ได้แก่ 1. กิจการ เช่น กิจการร้านกาแฟ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า 3.สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4. อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6. ทรัพย์สินอื่น (ไม้ยืนต้น) ทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจ ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
เกษตรกรและผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 e-Mail : [email protected] สายด่วน 1570 www.dbd.go.th