การเมืองซ้ำเติมลงทุนภาครัฐ 'ผู้รับเหมา' สะเทือนเมกะโปรเจกต์สุดอืด

การเมืองซ้ำเติมลงทุนภาครัฐ  'ผู้รับเหมา' สะเทือนเมกะโปรเจกต์สุดอืด

การลงทุนภาครัฐหดตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 ซึ่งล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2567 การลงทุนของรัฐบาลลดลง 12.8% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 10.1%

สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 24.0% สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 19.0% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาโครงการลงทุนของภาครัฐยังล่าช้าอยู่ เพราะกว่าจะจัดตั้งรัฐบาล และอนุมัติแผนลงทุนปีงบประมาณ 2567 ใช้เวลาถึงกลางปี  2566 ทำให้ปี 2567 มีโครงการภาครัฐที่เปิดประกวดราคาเพียง 3 โครงการ คือ 

โครงการทางพิเศษ สายจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3, โครงการก่อสร้างทางวิ่ง และทางขับที่ 2 ของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และล่าสุดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย

ขณะที่การลงทุนกำลังจะเดินหน้าต่อเนื่องกลับมีเหตุให้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบต่อภาคการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนรัฐบาลที่จำเป็นต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ 

ดังนั้นช่วงที่เหลือของปี 2567 คงเป็นช่วงของการกำหนดนโยบาย และทิศทางการลงทุนของภาครัฐ ส่วนตัวจึงมองว่าปี 2567 ไม่น่าจะเป็นปีที่ธุรกิจรับเหมาจะคึกคัก ช่วงโค้งสุดท้ายของปีอาจได้เห็นการเปิดประมูล แต่เม็ดเงินการลงทุนน่าจะได้เห็นอย่างชัดเจนในปี 2568

“ในฐานะภาคเอกชนในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อยากเห็นรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการรัฐที่เร่งผลักดันได้ทันที เพราะโครงการเหล่านี้ต้องเริ่มต้นให้เร็ว หากมีการประมูลปลายปีนี้ กว่าจะเห็นเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจก็ปีหน้า แต่อย่างน้อยอยากให้ปีนี้เป็นปีที่เริ่มต้นเร่งประมูล คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ทันช่วงปลายปีนี้”

นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโสกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เผยว่า ภาคเอกชนคาดหวังรัฐบาลใหม่จะเร่งประมูลโครงการต่อเนื่องเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ เพราะปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าโครงการประมูลงานรัฐล่าช้ากว่าแผน ดังนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันโครงการที่ค้าง และโครงการที่พร้อมเปิดประมูลเพื่อนำเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ

“รัฐบาลมีเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่ารัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศจะมีนโยบายผลักดันโครงการลงทุนภาครัฐที่ค้างอยู่ เพราะต้องยอมรับว่างานภาครัฐที่ประมูลล่าช้า ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นผลกระทบภาคเอกชน ไม่เพียงกลุ่มรับเหมาแต่เป็นผลกระทบในทุกธุรกิจ”

สำหรับบริษัท จะติดตามนโยบายรัฐบาลใกล้ชิด และรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และเปิดประมูลโครงการปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่มีความพร้อมในผลการศึกษาแล้ว โดยบริษัทฯ สนใจร่วมประมูล และมองว่าปี 2568 จะเป็นปีที่ธุรกิจฟื้นตัว และกลับมามีรายได้เป็นบวก

การเมืองซ้ำเติมลงทุนภาครัฐ  \'ผู้รับเหมา\' สะเทือนเมกะโปรเจกต์สุดอืด

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.มีแผนลงทุนโครงการทางพิเศษปี 2567 โดยเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เดินหน้าประมูล 2 โครงการที่มีความพร้อม ประกอบด้วย 

1.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ คาดใช้วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท 

2.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

ทั้งนี้ 2 โครงการดังกล่าวศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มกระบวนการเปิดประกวดราคา โดยหากดำเนินการตามแผนข้างต้น กทพ.ประเมินว่าทั้ง 2 โครงการจะลงนามสัญญาจ้างเอกชนปี 2567 และตอกเสาเข็มเริ่มงานก่อสร้างได้ปี 2569 เป็นอีกส่วนสำคัญด้านการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุน และเศรษฐกิจในประเทศ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมทางหลวงมีโครงการที่พร้อมนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติเพื่อเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) อาทิ 

1.โครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทล์ลเวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท 

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมทางหลวง มีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดทบทวน อาทิ

1.โครงการมอเตอร์เวย์ (M8) สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร วงเงิน 45,939 ล้านบาท พร้อมเสนอให้ ครม.พิจารณาเพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในปลายปีนี้ 

2.โครงการมอเตอร์เวย์ (M8) สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ระยะที่ 2 ช่วงปากท่อ -ชะอำ ระยะทาง 60 กิโลเมตร ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวเส้นทาง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประชาชนคัดค้าน

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์