"ความโลภ" ต้นเหตุ "เงินเฟ้อ" | วรากรณ์ สามโกเศศ
ไม่มีอะไรน่าตกใจในชีวิต เท่ากับการพานพบสถานการณ์ที่ข้าวของแพงขึ้นอย่างมากในหนึ่งอาทิตย์เเละในหนึ่งเดือน เพราะมันหมายถึงการจนลงอย่างรวดเร็ว เงินที่มีในมือสามารถซื้อข้าวของได้ปริมาณน้อยลงทุกที
เมื่อราคาสูงขึ้นคนทั่วไปคาดเดาได้ว่า มีที่มาจากการที่ปริมาณของที่มีให้ซื้อนั้นน้อยลง หรือมาจากการไล่ซื้อของที่มีด้วยอำนาจซื้อที่มีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
เราเข้าใจกันอย่างนั้นมาตลอด แต่ปัจจุบันมีการมองว่ามันมีที่มาซับซ้อนและหลากหลายกว่าที่เข้าใจกัน โดยเฉพาะมาจากความโลภ และการกระทำของธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย ลองมาดูกันว่ามันมีข้อเท็จจริงเพียงใด
เงินเฟ้อ (Inflation) เป็นสภาวการณ์ที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในภาษาตลาดปัจจุบันคำว่า inflation หมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหา หากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปีก็ใช้คำพูดว่ามีอัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี หรือ inflation rate เท่ากับ 2%
เศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่เรียนกันมาอธิบายว่า เงินเฟ้อมีที่มาจาก 2 สาเหตุคือ ต้นทุนสูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องของซัพพลาย (supply) หรือด้านการเสนอขาย เช่น จากการขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ ฯลฯ กับอำนาจซื้อซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์ (demand) หรือด้านความต้องการซื้อ
ดังนั้น จึงมีการแยกเงินเฟ้อออกเป็นสองประเภทตามลักษณะของสาเหตุคือ cost-push inflation คือสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากซัพพลายซึ่งเกี่ยวกับต้นทุน และ demand-pull inflation คือสภาวการณ์เงินเฟ้อที่เกิดจากดีมานด์หรือความต้องการหรืออำนาจซื้อ
ในยุคทศวรรษ 60 และ 70 นักเศรษฐศาสตร์ถกเถียงกันร้อนแรงว่าสภาวการณ์เงินเฟ้อแบบใดที่เป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อ หลังจากเสียเวลาเถียงกันอยู่นานจนอ่อนโรย เพราะหมดเเรงเเละเพราะแก่ขึ้นด้วยก็พอจะเห็นตรงกัน (นักเศรษฐศาสตร์ไม่มีวันเห็นตรงกันหมดเช่นเดียวกับนักกฎหมาย) ว่า
ต่อให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาก็ไม่อาจขยับสูงขึ้นได้หากไม่มีอำนาจซื้อที่มากล้นอยู่ด้วย ดังนั้น demand-pull inflation น่าจะเป็นลักษณะของสภาวการณ์เงินเฟ้อส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่าสภาวการณ์เงินเฟ้อยากที่จะเกิดขึ้นได้ตราบที่ไม่มีอำนาจซื้อมากล้นอยู่ในตลาดด้วย
“อำนาจซื้ออันมากล้น” มักมาจากการเพิ่มปริมาณเงินอย่างมาก (หรือพูดแบบตลาดว่า “ปั๊มแบงก์”) เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลของประเทศหนึ่งเก็บภาษีไม่ได้เพียงพอกับรายจ่ายครั้นจะกู้ก็มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ทางออกที่มักง่ายก็คือ การ “ปั๊มแบงก์” หรือพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอย่างมากแบบเปิดเผยหรือแบบซ่อนเร้นเพื่อรัฐบาลนำมาใช้จ่าย
เมื่อระบบเศรษฐกิจมีเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นมากทันที แต่สินค้าเเละบริการที่มีให้ซื้อนั้นมีปริมาณเท่าเดิม ดังนั้น ราคาจึงสูงขึ้น สมัยก่อนที่ไม่รู้จักคำว่า “ธรรมาภิบาล” ในกลุ่มผู้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธนาคารของประเทศ วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดธรรมาภิบาล
ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มันมีอะไรที่ยอกย้อนมากกว่าแค่ดีมานด์ หรือซัพพลายที่เป็นสาเหตุของเงินเฟ้อเท่านั้น
เหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ฉลาดขึ้นก็เพราะเห็นหลักฐานจากของจริงว่า
(ก) พลังผูกขาดสินค้าในตลาดสามารถทำให้ข้าวของแพงขึ้นได้ไม่ยากภายใต้บางเงื่อนไขประกอบ
(ข) ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสะดุดของ supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดสินค้าหรือบริการขึ้นโดยมีการผลิตหรือจัดการแยกย่อยลงไป เช่น ข้ามประเทศโดยชิ้นส่วนมาจากหลายประเทศ หากประเทศใดมีปัญหาก็เกิดการสะดุด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
(ค) ความโลภของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบงำตลาด ฯลฯ
Robert Reich มีคลิปยูทูปสั้นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน โดยเฉพาะในด้านลบจากการแข่งขันในตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
Reich เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอยู่หลายปี ทำงานให้ประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตหลายคน เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ เขียนหนังสือหลายเล่ม เป็นแชมป์เปี้ยนการต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ
เขาบัญญัติสองคำขึ้นมาคือ Greedflation (Greed หรือความโลภ + Inflation ขอย่อว่า GI) และ Corporate-flation (Corporate หรือองค์การธุรกิจขนาดใหญ่ + Inflation ขอย่อว่า CI) เพื่ออธิบายการสูงขึ้นของราคาสินค้าเเละบริการที่คนธรรมดาจำต้องเผชิญ
Reich บอกว่า GI เกิดจากความโลภเกินไปในการหากำไรของธุรกิจขนาดใหญ่ ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างปราศจากปัจจัยเศรษฐกิจพื้นฐานด้านดีมานด์และซัพพลายเกิดขึ้นโดยการปรับราคาให้สูงขึ้นอย่างจงใจมากกว่าต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น
หัวใจของมันคือการมีดีกรีของการครอบงำตลาดสูงจนสามารถตั้งราคาสูงขึ้นได้โดยไม่กลัวเสียลูกค้า ทั้งหมดมักมาจากการขาดการแข่งขันเพราะเป็นผู้ผลิตรายเดียวหรือมีอยู่ไม่กี่ราย
ผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านจ่ายเงินเกินกว่าที่ควรจะเป็น ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น (เวลาข้าวของแพงขึ้น คนจนจะลำบากกว่า) การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเพราะเงินเฟ้อหนักจนทำให้คนไม่อยากลงทุน ผู้บริโภคก็ไม่อยากใช้เงิน ตัวอย่างคือราคายาในสหรัฐที่สูงมาก ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่จำนวนมากในสหรัฐมีกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นมากแม้ในยามของแพง
ส่วน CI นั้นเป็นชนิดพิเศษของ GI ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจขนาดใหญ่อาศัยอำนาจในตลาดอันมหาศาลผลักดันให้ราคาสินค้าในตลาดสูงขึ้นอย่างไปทั่วในระบบเศรษฐกิจ โดยอาจกระทำผ่านการล็อบบี้นักการเมืองในการทำให้การแข่งขันลดลง ทำให้มีผู้แข่งขันจำนวนน้อยลงในตลาดเพื่อเพิ่มการผูกขาด ผลักดันให้ลดกฎเกณฑ์การควบคุมผู้เล่นในตลาด ฯลฯ
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยไม่เชื่อว่า GI และ CI เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดอย่างเดียวของการเกิดสภาวะเงินเฟ้อ โดยเชื่อในแนวที่ว่า “จะมีควันได้ก็ต่อเมื่อมีไฟ” กล่าวคือเชื่อว่าอย่างไรเสียก็จำเป็นต้องมีปัจจัยด้านดีมานด์และซัพพลายอยู่เบื้องหลังประกอบไปด้วย
ไอเดียในเรื่องนี้ของ Reich มีความจริงอยู่ด้วยอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่สมควรจับตามองอย่างใกล้ชิดในระบบเศรษฐกิจว่า มีลักษณะของ CI และ GI ปนอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด
ในโลกอันแสนซับซ้อนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลายสิ่งมักผสมปนเปกันจนเกิดผลต่างๆ ขึ้นในด้านบวกและลบ การติดตามหาหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงว่า ปัจจัยใดมีผลในการสร้างเงินเฟ้อมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้และกำหนดนโยบายแก้ไขที่ได้ผล