ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วไทย เพิ่มอำนาจซื้อ..มาพร้อมสินค้าแพงล่วงหน้า
1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงาน” ซึ่งผู้คนทำงานล้วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ อุตสาหกรรม และผลักดันการเติบโตของประเทศ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบมาพิจารณาเวลานี้คือเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ซึ่งรัฐบาลมักให้ของขวัญแรงงานด้วยการ “ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ”
ปี 2567 การปรับขึ้นค่าแรงผ่านไป 2 ระลอก และล่าสุดคือ 13 เมษายนที่ผ่านมา การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แบบมีเงื่อนไข เพราะจำกัดวงแค่บางธุรกิจ เช่น กิจการโรงแรม ระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัด และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะเห็นอีกครั้งช่วงปลายปีนี้
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า” ฉายภาพว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ช่วงเดือนตุลาคมนี้ มีเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่อีกด้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกว่า 10% หากธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น แรงงานเป็นต้นหลักย่อมได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีพนักงานหน้าร้านจำนวนมากให้บริการลูกค้า ฯ
ขณะที่บริษัท ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากปัจจุบันมีการจ้างงานราว 6,000 คน มีการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ทันสมัย วิธีการผลิตหลายอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผลการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อหน่วยให้ดีขึ้น จากเดิมกำลังผลิต 5 ล้านหน่วยต่อวัน มาอยู่ที่ 7 ล้านหน่วยต่อวัน หรือผลิตได้มากขึ้นเกือบ 20% โดยใช้แรงงานเท่าเดิม กลับกันหากโปรดักติวิตีลดย่อมกระทบต้นทุน
ส่วนภาพรวมการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ จะกระทบ “ราคาสินค้า” แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่อยู่ในรายการสินค้าควบคุมมีการปรับราคาขึ้นไปแล้ว บ้างมีการลดไซส์ แต่หากกำลังซื้อผู้บริโภคไม่ดี การแข่งขันสูง กลไกตลาดจะทำงาน แบรนด์ต่างๆจะจัดโปรโมชั่นเพื่อ “ลดราคา” กระตุ้นยอดขาย
“ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการ หากขึ้นค่าแรงส่งผลกระทบต้นทุน อาจทำให้ปรับราคาสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมา สินค้ามีการหาจังหวะขยับขึ้นราคา ลดไซส์บ้างแล้ว”
อีกมิติการขึ้นค่าแรงจะเพิ่ม “อำนาจซื้อให้ผู้บริโภค” แต่มาพร้อมกับ “ข้าวของแพง” เกิดคำถามค่าแรงไล่ตามราคาสินค้าทันหรือไม่ ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่องจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันมีสิ่งเร้า ดึงดูดให้เกิดการก่อหนี้ เช่น การซื้อยานยนต์ โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ทานอาหารจานโปรดราคาสูงวันนี้ กินบะหมี่ฯปลายเดือน นอกเหนือจากการเป็นหนี้นอกระบบ ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเพียงพอต่อการใช้จ่ายของแรงงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินด้วย เพราะการมีอำนาจซื้อ รายได้เพิ่ม อาจทำให้ความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มตามไปด้วย”
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เนสท์เล่ ในประเทศไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 3,000 คน และการจ่ายค่าจ้าง ถือว่าสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงในอนาคตจะไม่กระทบต่อภาพรวมธุรกิจมากนัก ทว่า หากมองลึกถึงห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน เนสท์เล่ มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงงานอีกนับ “หมื่นคน” จุดนี้ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเพียงเล็กน้อย
มิติการขึ้นค่าแรง “วิคเตอร์” ยังมองเป็นปัจจัยที่หนุนให้ประชาชนมีกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย
“ค่าแรง” เป็นหนึ่งในแรงกดดันต้นทุน แต่ภาคการผลิตยังมีตัวแปรราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็ปรับขึ้นด้วย แต่ด้าน “ราคาสินค้า” บริษัทเห็นว่าไม่ควรผลักภาระให้ผู้บริโภค แต่แนวทางการบริหารจัดการคือ ดูแลประสิทธิภาพการทำงานให้ดี
“บริษัทเราจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่ากำหนดอยู่แล้ว และจะเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย และสภาพเศรษฐกิจ แต่หากมองทั้งซัพพลายเชน ยอมรับว่าการปรับค่าแรงกระทบต้นทุนผลิตเล็กน้อย แต่เรามีการนำเทคโนโลยีบริการจัดการทั้งแวลูเชน”