ระดมแผนป้องกันน้ำท่วม ‘ลุ่มเจ้าพระยา’ รัฐ-เอกชน มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

ระดมแผนป้องกันน้ำท่วม ‘ลุ่มเจ้าพระยา’ รัฐ-เอกชน มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

"คลัง" มั่นใจน้ำท่วมไม่เท่าปี 54 หารือ "แบงก์" จัดแพ็กเกจช่วยผู้ประกอบการ - ประชาชน "กรมชลฯ" ชี้เขื่อนรับน้ำได้อีก "เกษตร" ปรับแผนเก็บเกี่ยวข้าวเร็วขึ้น "กนอ." สั่งทุกนิคมฯ ตรวจความพร้อมเขื่อนกั้นน้ำ "บ้านจัดสรร" เตรียมสภาพคล่องรับยอดขายลด "ท่องเที่ยว" จ่อเยียวยา

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ สร้างความกังวลถึงช่วงฤดูน้ำหลากในเดือนก.ย.- ต.ค.2567 ที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญ ณ วันที่ 26 ส.ค.2567 ที่มีผลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่ายังสามารถปรับปริมาณน้ำฝนเพิ่มเติมได้หลังจากนี้ ดังนี้

1.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่รับน้ำจากแม่น้ำปิง กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 5,936 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 45% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 2,136 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23% รับน้ำได้อีก 7,526 ล้านลบ.ม.

2.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่รับน้ำจากแม่น้ำน่าน กักเก็บน้ำในปัจจุบัน6,674 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 71% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 3,824 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 58% รับน้ำได้อีก 2,836 ล้านลบ.ม.

3.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 354 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 38% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 311ล้านลบ.ม. คิดเป็น 35% รับน้ำได้อีก 585 ล้านลบ.ม.

4.เขื่อป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 281ล้านลบ.ม.คิดเป็น 30% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 278 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29% รับน้ำได้อีก 679 ล้านลบ.ม.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า มวลน้ำใน จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ได้ระบายลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ และแม่น้ำโขง และส่วนที่เหลือเป็นปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยม ซึ่งปัจจุบันไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ อยู่ที่ 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยได้เพิ่มการระบายน้ำลงคลองต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.สุโขทัย อยู่อัตรา 500 ลบ.ม.ต่อวินาที

รวมทั้งจะผันน้ำส่วนหนึ่งไปทุ่งรับน้ำ และจะพิจารณาระบายน้ำในทุ่งลงไปสู่แม่น้ำน่าน เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับฝนตกในช่วงต่อจากนี้

ระดมแผนป้องกันน้ำท่วม ‘ลุ่มเจ้าพระยา’ รัฐ-เอกชน มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

สำหรับมวลน้ำที่ไหลมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 700-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท และบางส่วนของ จ.สิงห์บุรี ซึ่งกรมชลประทานจะแจ้งเตือนการระบายน้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมยกของขึ้นที่สูง

นอกจากนี้ ประเมินว่าจะไม่เกิดผลกระทบรุนแรงเหมือนอุทกภัยปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามากว่า 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที โดย สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่ามีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงฤดูฝน

“คลัง”มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

นายพิชัย ชุณหวชิร รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมไม่เป็นปัจจัยที่กังวลต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะยังไม่รุนแรงเหมือนกับน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และไม่ขยายเป็นกว้างถึงเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลบริหารจัดการได้

รวมถึงกระทรวงการคลังจะหารือธนาคารเพื่อเตรียมแพ็กเกจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น การยืดหยุ่นลูกหนี้ 3-6 เดือน ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ และช่วยให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากน้ำท่วมมากนัก

ปรับแผนปลูกข้าวลดผลกระทบ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การเตรียมรับสถานการณ์น้ำในปี 2567 ได้ปรับแผนการเพาะปลูกนาปรัง โดยพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เริ่มเก็บเกี่ยววันที่ 1-15 ส.ค.2567 หลังจากนั้นจะเตรียมพื้นที่รับน้ำหลาก 265,000 ไร่ ในช่วงวันที่ 16 ส.ค.- 31 ต.ค.2567 และจะระบายน้ำออกพื้นที่ลุ่มต่ำเหลือ 30 เซนติเมตรเพื่อเริ่มนาปรังปี 2567/68 ในวันที่1-30 พ.ย.2567

ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ได้รับแผนการเพาะปลูกนาปรัง โดยเริ่มเก็บเกี่ยววันที่ 1-15 ก.ย.2567 รวมทั้งงดปลูกนาปีต่อเนื่อง พื้นที่ 953,214 ไร่ ในช่วงวันที่ 16 ก.ย.- 31 ต.ค.2567 และเริ่มระบายน้ำออกพื้นที่ลุ่มต่ำเหลือ 30 เซนติเมตรเพื่อเริ่มนาปรังปี 2567/68 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.- 31 ธ.ค.2567

กนอ.มั่นใจนิคมฯรอดน้ำท่วม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนประกอบกับมีแนวพัดของลมตะวันออกเฉียงใต้ และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่

ทั้งนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม นั้น กนอ. จึงได้ส่งหนังสือจึงขอความร่วมมือจากนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศดำเนินการ ดังนี้

1.ตรวจสอบ และบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ กระจายไว้ตามจุดเสี่ยงภัยต่างๆ ในพื้นที่นิคมฯ และท่าเรือฯ

2.สำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดวัชพืชในพื้นที่ ที่ระบายน้ำ คลอง และรางระบายน้ำรอบพื้นที่นิคมฯ และท่าเรือฯ ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ

3.ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง จัดเตรียมบุคลากร และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งในพื้นที่โรงงาน และอาณาเขตโดยรอบตลอด 24 ชั่วโมง

4.หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลในภาวะฉุกเฉิน ให้ ผอ.นิคมฯ และท่าเรือฯ ปฏิบัติตามคำสั่ง กนอ. ที่ 285/2565 เรื่อง การรายงานข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินในนิคมฯ และท่าเรือฯ โดยสามารถแจ้งตรงถึง ศสป.กนอ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เกือบทุกนิคมฯ สร้างเขื่อนรับมือน้ำท่วม

“กนอ.ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ” นายวีริศ กล่าว

นายวีริศ กล่าวว่า จากกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2564 ที่ผ่านมา กนอ.ได้สั่งการให้สร้างเขื่อนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างเกือบครบทุกนิคมฯ แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งไม่อยู่โซนรับน้ำท่วมในปี 2554 ส่วนนิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำจากภาคเหนือจะมีเขื่อนป้องกันหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้ กนอ.ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

“ท่องเที่ยวฯ” จ่อออกมาตรการเยียวยาน้ำท่วม

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่กรมการท่องเที่ยวได้รายงานเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้ ว่ามีในจังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และภูเก็ต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ดินทรุดตัว ดินสไลด์ และสะพานถูกตัดขาด ทำให้การจราจรในหลายเส้นทางถูกปิด อีกทั้งสถานประกอบการหลายแห่งหยุดให้บริการกระทบการท่องเที่ยวในพื้นที่มาก

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สั่งการให้ตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (War Room) เพื่อประสานการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และตำรวจท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที

ในระยะต่อไป กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมออกมาตรการสำคัญเพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหาย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ปลอดภัย และการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

บ้านจัดสรรหลังปี 54 ถมที่สูงขึ้น

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี กล่าวว่า กว่าที่น้ำทางเหนือจะลงมาภาคกลาง และมาถึง จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ น่าจะใช้เวลานานกว่า 6 วัน จากประสบการณ์ที่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมปี 2554 จ.นนทบุรี ในส่วนของอำเภอเมืองกับปากเกร็ด น่าจะป้องกันได้ดี

“หากถ้าดูมวลน้ำในปัจจุบันเทียบปี 2554 ยังมีปริมาณน้อยกว่า ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่พัฒนาหมู่บ้านจัดสรรหลังปี 2554 ได้ถมที่ในโครงการบ้านไม่ต่ำกว่าปี 2554 ยิ่งไปกว่านั้นภาคราชการที่ดูแลการขออนุญาตจัดสรรที่ดินให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวดังนั้นเมื่อมองมวลน้ำที่เกิดปัจจุบันที่ลงมาไม่มากกว่าปี 2554 จึงไม่น่ากังวลว่าน้ำจะเข้าท่วมหมู่บ้านยกเว้นเป็นหมู่บ้านเก่า”

นายปรีชา กล่าวว่า กังวลการท่วมบริเวณถนนหนทางที่ใช้สัญจรไปในหมู่บ้านทำให้เกิดความไม่สะดวกเวลาที่เกิดปัญหาน้ำท่วมอาจส่งผลกระทบผลประกอบการได้พอสมควรเช่นกัน ในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วมแม้จะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่เป็นปัจจัยลบทำให้คน “ไม่มี” อารมณ์ซื้อ และ “ชะลอ” การตัดสินใจซื้อออกไปอีก

ส่วนการเตรียมการของผู้ประกอบการจะเป็นในเรื่องของกระแสเงินสด และสภาพคล่องเพราะการขายและการพัฒนาโครงการยากขึ้น ขายได้ช้าลงทำให้ต้องสำรองเงิน เพื่อพัฒนาโครงการให้สามารถรักษาและพัฒนาโครงการให้ผ่านช่วงที่เกิดน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า และใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าน้ำจะลดลงพอนำลดใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าจะเคลียร์พื้นที่ ทำให้ขายยากขึ้นโอนยากขึ้น

ปี 54 มีปัจจัยการเมืองทำให้น้ำท่วม

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ยังยากประเมินว่ารุนแรงมากน้อยแค่นั้น เพราะเมื่อเทียบปี 2554 สถานการณ์แตกต่างกัน ในปีนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองทำให้น้ำไม่สามารถผ่านลงมาได้ตามปกติเกิดน้ำท่วมที่ยากจะประเมินสถานการณ์ได้

แต่ปีนี้ท่วมปล่อยไปตามปกติไม่น่ามีปัญหามากนัก แต่ยังไม่รู้ว่าฝนตกหนักกว่านี้อีกหรือไม่ รวมทั้งการบริหารจัดการของรัฐบาลใหม่ ที่เข้ามาดูแลต้อรอดู แต่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้นในครึ่งหลังปี 2567 ส่งผลต่ออารมณ์ซื้อของลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการทำกิจกรรมการตลาดหลักขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย

นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 ขณะนี้ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างยังไม่มาก และในแง่ของการบริหารจัดการที่เคยมีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยถ้าปล่อยผ่านไปตามธรรมชาติไม่มีการกักน้ำทุกอย่างไหลออกไปอย่างรวดเร็วเฉลี่ยท่วม 20-30 เซนติเมตร ไม่น่ากังวลมากนัก

“นักเศรษฐศาสตร์” มองผลกระทบน้ำท่วมจำกัด

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หากดูผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันพื้นที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน นั้นแน่นอนมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และราคาพืชผลทางการเกษตรในระยะข้างหน้า แต่ผลกระทบดังกล่าวมองว่ายังอยู่ในวงจำกัด เพราะน้ำท่วมดังกล่าวเป็นน้ำท่วมที่เกิดขึ้นชั่วคราวโดยมาจากน้ำหลาก ไม่ได้ท่วมขัง

ดังนั้นผลกระทบอาจมีจำกัดมากกว่า และไม่ได้ลามไปสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือจังหวัดอื่น ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่อาจยังไม่เห็นมากนัก

เช่นเดียวกับการประเมินถึงกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นขณะนี้ ยังไม่ลามทำให้ความเชื่อมั่นหรือกำลังหดลงจากผลกระทบดังกล่าวข้างต้นดังนั้น ผลข้างต้นอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ยังไม่กระทบหรือมีผลต่อความเชื่อมั่นในระยะยาว

ทั้งนี้ ยังมีจุดที่ต้องติดตาม และเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งจากการแก้ไขปัญหาของภาคส่วนต่างๆ จะมีมากน้อยแค่ไหนรวมถึง การติดตามการผันน้ำ หรือการบริหารน้ำ การทำแก้มลิงต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

“แม้ผลกระทบโดยรวมจะยังไม่กระทบต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นต้องติดตาม และเฝ้าระวังน้ำในจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ว่าจะลามมาสู่จังหวัดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งก็เชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 หรือน้ำท่วมใหญ่ในอดีต ทั้งนี้แม้ผลดังกล่าวจะมีจำกัด และเป็นลบต่อเศรษฐกิจบางภาคส่วน ดังนั้นมองว่าน่าจะมีมาตรการภาครัฐ ทั้งการเยียวยา การชดเชยเข้ามาช่วยอย่างตรงจุดมากขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์