เกษตรฯ เร่งปั้นมังคุด ปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ ส่งออกตามรอยทุเรียน
มังคุด ผลไม้คู่หยิน-หยางกับทุเรียน ทาง คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ๊ตบอร์ด)จึงเห็นชอบให้เพิ่มศักยภาพเพื่อผลักดันส่งออก โดยตลาดหลักที่ไทยส่งออกมังคุดอันดับ 1 คือจีน มีสัดส่วน 94%ของการส่งออกทั้งหมด ปี 2567
นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าในปี 2567 ผลผลิตมังคุดมีประมาณ 281,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า เป็นผลไม้ที่มีโอกาสทางการตลาด ด้วยรสชาติที่อร่อยมีฤทธิ์เย็น มักรับประทานคู่กับทุเรียน เป็นอีก 1 ผลไม้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายผลักดันการส่งออก และปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกในภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกรวม 209,452 ไร่ ส่วนภาคตะวันออกและภาคกลาง มีพื้นที่ปลูกรวม 198,303 ไร่ ดินที่เหมาะสมมีเนื้อดินร่วนปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความสูงจากระดับทะเลปานกลางไม่เกิน 650 เมตร ความลาดเอียงของพื้นที่ในระดับ 1-3 % แต่ไม่ควรเกิน 15% หน้าดินมีความลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร
ส่วนระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 1.5 เมตร ดินมีความสามารถในการระบายน้ำและอากาศดี ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดินประมาณ 5.5-6.5 ค่าการนำไฟฟ้าของดิน 0-2 เดซิซีเมนส์ต่อเมตร มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง 3% ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์15-45 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ 50-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
การปลูกมังคุดจะแบ่งใส่ปุ๋ย 4 ครั้งต่อปีตามระยะการเจริญเติบโตของพืช คือ ระยะบำรุงต้น (ช่วงตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว), ระยะสร้างตาดอก (ก่อนออกดอก 1-2 เดือน), ระยะบำรุงผล (หลังดอกบาน 1 เดือน) และ ระยะปรับปรุงคุณภาพ (ก่อนเก็บเกี่ยว 2 เดือน)
กรมวิชาการเกษตร มีภาระกิจในการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับมังคุดในสวนของเกษตรกร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน ค่าปุ๋ยได้ประมาณ 20% จากต้นทุนการเพาะปลูกในส่วนของปุ๋ยจะมีประมาณ 30% ของต้นทุนรวม สำคัญที่สุดเกษตรกรต้องเก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ก่อนการวิเคราะห์การใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง
“การวิเคราะห์ดินก่อนการใช้ปุ๋ย เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เกษตรกรไม่ใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น หากดินมีธาตุอาหารเพียงพอไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่หากธาตุอาหารไม่เพียงพอจึงใส่เพิ่ม เพื่อให้ปริมาณปุ๋ยเหมาะสมกับความต้องการของพืช ส่งผลให้ต้นทุนการซื้อปุ๋ยลดลง 20% จากต้นทุนปุ๋ย และส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10%”
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อต้องใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน จำเป็นต้องวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน โดยมีวิธีการเก็บตัวอย่างดิน ในสวนมังคุดเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเองตามขั้นตอนดังนี้ 1. สุ่มเก็บตัวอย่างดินจำนวน 10-20 ต้นต่อแปลง (พื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่) 2. เก็บตัวอย่างดินจาก 4 ทิศรอบต้น ห่างจากชายพุ่มเข้าไปด้านในประมาณ 50 เซนติเมตร 3. เก็บตัวอย่างดินที่ 2 ระดับความลึก คือดินบนที่ความลึก 0-15 เซนติเมตร และดินล่าง ที่ความลึก 15-30 เซนติเมตร
4. รวมตัวอย่างดินจาก 4 จุด ให้เป็นตัวอย่างดินบน 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างดินล่าง 1 ตัวอย่าง 5. นำตัวอย่างดินบนของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น 6. นำตัวอย่างดินล่างของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น 7. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และ หากเกษตรกรต้องการปรึกษาขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินหรือ การปรับปรุงดิน และการใช้ปุ๋ย สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 50 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ โทร. 0-25797514 หรือ 0-25794116