‘คลัง’ – ‘สภาพัฒน์’ เร่งรายจ่ายลงทุน หน่วยราชการ-รัฐวิสาหกิจ ปั๊ม ‘GDP’ ปี 67
กระทรวงการคลัง - สภาพัฒน์ ประสานเสียง หน่วยงานราชการ - รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการลงทุน หวังดันเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจช่วงปลายปีงบประมาณ - ไตรมาสที่ 4 ช่วยดันจีดีพีเพิ่ม สศช.เปิดข้อมูลรัฐวิสาหกิจปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 7.8 หมื่นล้าน เหลือเบิกจ่ายได้อีกกว่า 3 หมื่นล้าน
การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณถือเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจะดันเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบประมาณในการลงทุนซึ่งจะทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างแรงงานในภาคก่อสร้างซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไปอีกหลายอุตสาหกรรมทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ในที่สุด ทั้งนี้การเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ทำได้ทั้งในส่วนของงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้หารือกับ ครม.เรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายและเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยระบุว่าการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้โดยเร็วซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้โดยตรง
ดังนั้นจึงเห็นควรให้ทุกส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายและเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายในกรอบระยะเวลาของปีงบประมาณ (30 ก.ย.) หรืออย่างช้าสุดภายในสิ้นปี 2567 เพื่อให้ทันรอบระยะเวลาของ การคำนวณ GDP ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรรายจ่ายลงทุนสูง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ขอให้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่มีผลเกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการก่อสร้างเป็นลำดับแรกด้วย
สำหรับประเด็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในการลงทุนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความสำคัญเช่นกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการบริหารจัดการเร่งรัดการดำเนินการโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สามารถก่อหนี้และเบิกจ่ายงบลงทุนได้โดยเร็วจะเป็นปัจจัยสนันสนุนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 อีกทั้งจะมีสำคัญต่อการรักษาแรงขับเคลื่อนของการลงทุนภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2568
ทั้งนี้ สศช.ได้เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2567 ในโครงการการเบิกจ่ายงบลงทนของรัฐวิสาหกิจใครงการสำคัญ มีจำนวน 1,4 14 โครงการ มีแผนการลงทนรวม 78,042 ล้านบาท คิดเป็น 20.5% ของกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมดในปี 2567 โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของใครงการสำคัญ จำนวน 48,693.7 ล้านบาทคิดเป็น 62.4% ของแผนการเบิกจ่าย
ทั้งนี้โครงการลงทุนสำคัญที่เบิกจ่ายได้สูงกว่าแผนการเบิกจ่าย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการลงทุนที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 50% จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ) โครงการพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผมหลักฯ โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายขยายศูนย์ราชการโซน C โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2
ส่วนโครงการลงทุนที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่า 50% จำนวน 7 โครงการได้แก่ โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) แลปรับปรุงและ ขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฯ โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าฯ โครงการปรับปรงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ โครงการก่อสร้าง ปรับปรุงขยายฯ โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เป็นต้น