จัดตั้งธุรกิจใหม่ เดิอนก.ค. 7,837 ราย รวม 7 เดือนปี 67 แตะ 5.4 หมื่นราย

จัดตั้งธุรกิจใหม่ เดิอนก.ค. 7,837 ราย รวม 7 เดือนปี  67 แตะ 5.4 หมื่นราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย จดทะเบียนตั้งใหม่เดือนก.ค.67 จำนวน 7,837 ราย เพิ่มขึ้น 14% ได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิต ส่วนยอดสะสม 7 เดือน จำนวน 54,220 ราย เพิ่มขึ้น 0.16% เผย 10 ปีจนถึงปัจจุบัน" ธุรกิจบริการ"จัดตั้งสูงเกินครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  เข้าสู่ไตรมาส  3   ของปี 67 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนก.ค.  มีจำนวน 7,837 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 989 ราย หรือ 14% และทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 7,056.38 ล้านบาท หรือ 42%

ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 615 ราย ทุนจดทะเบียน 2,055.87 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 534 ราย ทุนจดทะเบียน 1,608.64 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย ทุนจดทะเบียน 798.51 ล้านบาท 

โดยธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,801.25 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจศูนย์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) บริการเชื่อมต่อโครงข่าย บริการดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อนรวมทั้งงานโยธาอื่นๆ

“การจัดตั้งธุรกิจได้เข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2567 จะมีทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งเชิงบวกและมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนธุรกิจเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็น Tourism Hub ของโลก เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองหลักและเมืองรอง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านที่มีความคืบหน้า รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจล้วนมีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่”

  จัดตั้งธุรกิจใหม่ เดิอนก.ค. 7,837 ราย รวม 7 เดือนปี  67 แตะ 5.4 หมื่นราย

ส่วนการจดทะเบียนเลิกเดือน ก.ค.2567 มีจำนวน 1,890 ราย เพิ่มขึ้น 1.23% ทุนจดทะเบียน 8,831.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.31% เพราะการเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท    

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับยอดจะทะเบียนการจัดตั้งใหม่ 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 54,220 ราย เพิ่มขึ้น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 62.10% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซี โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร  

ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ในรอบ 7 เดือน ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ทุนจดทะเบียน 17,621.98 ล้านบาท, ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,136 ราย ทุนจดทะเบียน 9,311.05 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,472 ราย ทุนจดทะเบียน 5,151.41 ล้านบาท 

ขณะที่ยอดจดทะเบียนเลิกรวม 7 เดือน มีจำนวน 7,929 ราย ลดลง 11.55% ทุนจดทะเบียน 85,579.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.79% เพราะมีนิติบุคคล 4 ราย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิก มีทุนจดทะเบียนรวม 6,004.71 ล้านบาท และเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิก ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้วหากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไป ทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 31,365.35 ล้านบาท และพบว่าสัดส่วนการจดเลิกอยู่ที่ 18% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 7 เดือนแรก ซึ่งมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17% ของการจัดตั้งธุรกิจ

ขณะที่ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 758 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 467 ราย  และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 259 ราย 

ช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจะพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของประเภทการจัดตั้งธุรกิจที่อดีตเป็นกลุ่มขายส่ง/ปลีก และการผลิต ได้เปลี่ยนผ่านเป็น ‘กลุ่มธุรกิจบริการ’ โดยช่วง 10 ปีนี้มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจบริการเกินครึ่งของธุรกิจทั้งหมด

ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดของธุรกิจบริการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก S คิดเป็น 99.22% ธุรกิจขนาดกลาง M คิดเป็น 0.52% และขนาดใหญ่ L คิดเป็น 0.26% สำหรับประเภทธุรกิจบริการที่จัดตั้งสูงสุดคือ อสังหาริมทรัพย์, ภัตตาคาร/ร้านอาหาร และขนส่งและขนถ่ายสินค้าฯ ”นางอรมน กล่าว

ในปี 2566 ธุรกิจบริการสร้างรายได้อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 2565 คิดเป็น 3.80% ทั้งนี้ ธุรกิจบริการ สามารถทำกำไรสูงสุด คิดเป็น 7.24% ของรายได้ ในขณะที่ภาคการผลิต คิดเป็น 4.61% ของรายได้ และภาคขายส่ง/ขายปลีกคิดเป็น 1.94% ของรายได้ จากข้อมูลใน 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567) ธุรกิจบริการมีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวน 31,003 ราย คิดเป็น 57.18% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งสิ้น 54,220 ราย   

ในปี 2567 ทุนจดทะเบียน 95,644.19 ล้านบาท คิดเป็น 56.67% ของทุนจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 168,783.20 ล้านบาท แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการยังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่รองรับกับการท่องเที่ยว ประกอบกับมีการจัดตั้งธุรกิจบริการประเภทใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ อาทิ การวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ, ธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจความบันเทิง, ธุรกิจสถานที่ออกกำลังกาย

ปัจจุบัน (31 กรกฎาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,931,454 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30.22 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 928,369 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.28 ล้านล้านบาท

แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 724,594 ราย คิดเป็น 78.05% ทุนจดทะเบียน 16.14 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,303 ราย  คิดเป็น 21.79% ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,472 ราย คิดเป็น 0.16% ทุนจดทะเบียน 5.67 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กรมคาดว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีต่อเนื่อง การอนุมัติการทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรอยู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย