'คมนาคม' เล็งเสนอ ครม.ใหม่ เดินหน้าระบบตั๋วร่วม ต่ออายุนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท

'คมนาคม' เล็งเสนอ ครม.ใหม่ เดินหน้าระบบตั๋วร่วม ต่ออายุนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท

“สุริยะ” เล็งเสนอ ครม.ชุดใหม่ ดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม หนุนนโยบายปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ภายในก.ย. 2568 พร้อมเสนอต่ออายุมาตรการลดค่าโดยสารมีผลบังคับใช้ต่อเนื่อง สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ยังคงเดินหน้า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยยังคงเป้าหมายผลักดันให้ครอบคลุมโครงการรถไฟฟ้าทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

สำหรับกระบวนการดำเนินงานในขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ต่อสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบอีกรอบ หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงจะดำเนินการตั้งกองทุนชดเชยรายได้ให้แก่เอกชน เพื่อมาใช้ชดเชยรายได้จากการปรับค่าโดยสารตามนโยบายตั๋วร่วม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรณีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทที่ดำเนินการอยู่ในส่วนของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งตามมติ ครม.เดิมนั้น ได้อนุมัติให้มีผล 1 ปี จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. 2567 โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ จะเสนอมาตรการเดิมเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ เพื่อต่ออายุมาตรการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ส่งผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายนั้นจะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เผยว่า ปริมาณผู้โดยสารของโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนใช้นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ระหว่างวันที่ 16 ต.ค. 2565 - 30 มิ.ย. 2566 มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 18,820,840 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟสายสีแดง อยู่ที่ 4,787,357 คน-เที่ยว และปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อยู่ที่ 14,033,483 คน-เที่ยว

ทั้งนี้ เมื่อมีนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ระหว่างวันที่ 16 ต.ค. 2566 - 30 มิ.ย. 2567 พบว่าปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 23,773,930 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟสายสีแดง อยู่ที่ 7,236,120 คน-เที่ยว

ส่วนปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อยู่ที่ 16,537,810 คน-เที่ยว ทำให้ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย จึงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 68.54% แบ่งเป็น ปริมาณผู้โดยสารรถไฟสายสีแดง เพิ่มขึ้น 51.15% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้น 17.39%

ด้านรายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง แบ่งเป็น ก่อนเกิดนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย พบว่า รถไฟสายสีแดงมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 144.23 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้ว รายได้ค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงลดลงอยู่ที่ 141.44 ล้านบาท หรือรายได้หายไป 2.79 ล้านบาท

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 326.99 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงอยู่ที่ 239.87 ล้านบาท หรือรายได้หายไป 87.12 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของรถไฟสายสีแดงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อพิจารณาเพื่อขอรับการชดเชยส่วนต่างรายได้ตามจริง ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำรายได้จากเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์