'สุริยะ' แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า ยัน BTS - BEM บริหารโครงการตามสัญญาเดิม

'สุริยะ' แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า ยัน BTS - BEM บริหารโครงการตามสัญญาเดิม

“สุริยะ” แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า ลุยปรับสัญญาเป็น PPP Gross Cost จ้างเอกชนเดินรถ ย้ำ BTS – BEM ยังเป็นคู่สัญญาตามเดิมจนกว่าจะหมดสัมปทาน เร่งหารือกระทรวงการคลัง จัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” นำงบประมาณมาดำเนินการ มั่นใจเป็นประโยชน์ประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกลง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล โดยระบุว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชนแต่อย่างใด โดยยังคงยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก เพียงแต่จะมีการพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อคืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา และรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป

เนื่องจากแนวทางดำเนินการในลักษณะนี้ จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม ขณะที่รูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทาน และยังคงยึดถือสัมปทานในอายุสัญญาตามที่เอกชนได้รับ

\'สุริยะ\' แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า ยัน BTS - BEM บริหารโครงการตามสัญญาเดิม

โดยปัจจุบันในส่วนของสัญญาบริหารรถไฟฟ้าที่เคยมีรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด โดยจ่ายค่าจ้างเอกชนจากการจ้างบริหารการเดินรถ

“การปรับสัญญามาเป็น PPP Gross Cost โดยรัฐไปซื้อคืนรถไฟฟ้ามานั้น คือ ภาครัฐจะชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถให้กับเอกชน และรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งแนวทางนี้ยืนยันได้ว่าจะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมอย่าง BTS และ BEM จะยังคงบริหารรถไฟฟ้าตามอายุสัญญาเดิม”

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การพิจารณาแนวทางซื้อคืนรถไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถ และสิทธิการเดินรถ แล้วจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ และอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต

ส่วนกรณีเมื่อสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง ก็จะเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคาตามปกติ แต่จะจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ PPP Gross Cost ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น เช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ขณะนี้ก็พบว่ามีปริมาณการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การจัดหาแหล่งเงินเพื่อไปซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนนั้น กระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว นำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรติดขัด

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์