'กองทุนน้ำมัน' ติดลบ 1 แสนล้าน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ 'แพทองธาร'

'กองทุนน้ำมัน' ติดลบ 1 แสนล้าน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ 'แพทองธาร'

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบล่าสุดกว่า 1 แสนล้าน ระเบิดเวลาลูกใหญ่รัฐบาลใหม่ "แพทองธาร ชินวัตร" เร่งแก้ปัญหา

KEY

POINTS

  • ราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำหรับทุกภาคส่วน ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญในการลดค่าครองชีพ โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมัน มาอุดหนุน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่ไม่สูง
  • ภายหลังรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา คือ การดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 32.94 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน และไม่ให้กองทุนน้ำมันติดลบมากไปกว่าปัจจุบันที่ติดลบกว่า 1 แสนล้าน
  • รัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหาร ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ส.ค. 2566 ติดลบ 55,091 ล้านบาท ในช่วงนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร
  • ภายหลังรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาสานต่อนโยบายพลังงานต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กองทุนน้ำมันฯ ติดลบวันที่ 27 ส.ค. 2566 ที่ 55,091 ล้าน ครบ 1 ปี กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 108,559 ล้าน เพิ่มขึ้น 53,468 ล้าน

ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ต่างให้ความสำคัญในการลดค่าครองชีพในส่วนนี้ จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้กลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

ภายหลังรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับตำแหน่งนายกัฐมนตรี อีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ การดูแลราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดูแลราคาน้ำมัน ควบคู่กับการลดภาษีน้ำมันดีเซลร่วม เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 32.94 บาทต่อลิตร

ตลอดระยะเวลา 1 ปีของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ส.ค. 2566 กองทุนน้ำมันติดลบ 55,091 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 10,375 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 44,716 ล้านบาท โดยในช่วงนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ถือเป็นการเข้ามาสานต่อนโยบายด้านพลังงานต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ปีรัฐบาลเศรษฐา ผ่านนายพีระพันธุ์ ใช้เงินกองทุนน้ำมัน ร่วมกับการขอลดภาษีน้ำมันจากกรมสรรพสามิต ดูแลราคาน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีความผันผวนแล้ว กองทุนน้ำมันได้กู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 150-200 ล้านบาท พยุงค่าครองชีพประชาชน 

นอกจากนี้ ในเดือนพ.ย. 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ จะต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้นก้อนแรกด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันติดลบล่าสุด ณ วันที่ 25 ส.ค. 2567 ติดลบรวม 108,559 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,003 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,556 ล้านบาท 

รายงานข่าว ระบุว่า ตั้งแต่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ได้ประกาศนโยบายตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในขณะนั้นราคาดีเซลอยู่ที่ระดับ 31.94 บาทต่อลิตร และเคยสูงสุดที่ 33.94 บาทต่อลิตร โดยมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ได้เริ่มใช้ระหว่าง 1 ม.ค.-31มี.ค. 2567 

โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ส.ค. 2566 ติดลบรวม 55,091 แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 10,375 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 44,716 ล้านบาท ในขณะที่ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดวันที่ 25 ส.ค. 2567 ติดลบรวม 108,559 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,003 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,556 ล้านบาท 

 

ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ ได้อุดหนุนทั้งน้ำมันดีเซล และ LPG ตลอด 1 ปี เฉลี่ยที่ 53,468 ล้านบาท โดยในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงที่กองทุนน้ำมันฯ สามารถเก็บเงินเข้าบัญชีวันละประมาณ 360 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันดีเซลวันละ 240 ล้านบาท น้ำมันเบนซินวันละ 126 ล้านบาท และ LPG วันละ 10 ล้านบาท หากสถานการณ์ ยังคงเป็นแบบนี้ จะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ จะเริ่มมีบัญชีติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ 

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ การคัดเลือกผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันท่านใหม่แทนนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ที่ครบวาระการทำงานไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้มีประกาศเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 22 ส.ค.-21 ก.ย.2567 นี้ โดยมีการปรับเกณฑ์อายุของผู้ที่จะสมัครด้วย ดังนั้น จึงต้องจับตาว่านายพีระพันธ์ จะมีใบสั่งรายชื่อผอ.ท่านใหม่หรือไม่