จับตาผอ. 'กองทุนน้ำมัน' คนใหม่ ผ่าวิกฤติพลังงานแบกหนี้ 1.1 แสนล้าน

จับตาผอ. 'กองทุนน้ำมัน' คนใหม่ ผ่าวิกฤติพลังงานแบกหนี้ 1.1 แสนล้าน

จับตา ผอ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คนใหม่ สานต่อภารกิจตรึงราคาน้ำมัน-แอลพีจี ผ่าวิกฤติพลังงานพ่วงแบกหนี้กว่า 1.1 แสนล้าน

KEY

POINTS

  • ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ราคาพลังงานจึงอิงตลาดโลกเป็นหลัก
  • รัฐบาลใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการใช้ในสัดส่วนกว่า 70 ล้านลิตรต่อวัน เฉลี่ยกว่า 70% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด
  • ต้นเดือนพ.ย.2567 นี้ กองทุนน้ำมัน จะต้องทยอยจ่ายคืนเงินต้นที่กู้มาเพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงในประเทศก้อนแรกกว่า 1,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท
  • นายวิศักดิ์ จะหมดวาระผอ.กองทุนน้ำมันกลางเดือนส.ค. 2567 นี้ เจ้าหน้าที่และผู้ผอ.กองต้องรับช่วงการทำหน้าที่เร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนให้กระเตื้องขึ้น 
  • ตอนนี้ขั้นตอนสรรหาผอ.คนใหม่อยู่ในกระบวนการ โดยหากกระบวนการแล้วเสร็จไม่ทันตนเองครบวาระก็จะเป็นหน้าที่ของกบน. แต่งตั้งรักษาการผอ. ขึ้นมาแทน

จากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ราคาพลังงานจึงอิงตลาดโลกเป็นหลัก

ทั้งนี้ ประเทศไทย ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการใช้ในสัดส่วนกว่า 70 ล้านลิตรต่อวัน หรือเฉลี่ยกว่า 70% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมดในประเทศ

สถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบต่อเนื่องจากการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม (LPG) นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด กองทุนน้ำมันฯ ได้ตรึงราคาก๊าซ LPG หลังจากมีวัคซีนป้องกันโควิดได้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 แต่ก็เกิดวิกฤตสงครามการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนปี 2565 และความไม่แน่นอนของราคาพลังงานในปี 2566 และการกลับมาตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เข้าสู่สถานะปัจจุบัน 2567 ที่แม้จะขยับเพดานราคาดีเซลขึ้นมาที่ 33 บาทต่อลิตรแล้ว

แต่ก็ยังเกิดวิกฤตจากสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเอง จนทำให้ปัจจุบันติดลบระดับกว่า 1 แสนล้านบาทอีกระลอก หลังจากที่เคยออกกฎหมายให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่เป็นหนี้ถึง 105,333 ล้านบาท ซึ่งต้องทยอยจ่ายคืนเงินต้นให้สถาบันการเงินในช่วงปลายปี 2567 นี้

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่าต้นเดือนพ.ย.2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ จะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นให้สถาบันการเงิน ที่กองทุนน้ำมันกู้มาเพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงในประเทศก้อนแรกกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่จ่ายแต่ดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 150-200 ล้านบาท จากวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังชดเชยน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 40 สตางค์ต่อลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 829 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนต.ค.2567 แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมัน พ.ศ.2565 ซึ่งเมื่อหักลบรายรับกับรายจ่ายแต่ละเดือนแล้ว ยืนยันว่ากองทุนยังมีเงินเพียงพอสำหรับชำระคืนหนี้เงินต้นก้อนแรกตามกำหนดแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังชดเชยน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 40 สตางค์ต่อลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 829 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนต.ค.2567 แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะที่มีรายรับมีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 2,733 ล้านบาท คิดเป็นเงินคงเหลือเดือนละประมาณ 1,900 ล้านบาท

สำหรับผลจากการการชดเชยราคาน้ำมันที่ผ่านมา ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมัน ล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.ค.2567 ติดลบที่ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 47,597 ล้านบาท

"กระแสเงินที่ไหลเข้าออกยังเพียงพอที่จะชำระหนี้เงินต้นคืนสถาบันการเงินได้ตามกำหนดต้นเดือนพ.ย. 2567 นี้ ภายใต้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือราคาน้ำมันสำเร็จรูปน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์อยู่ในระดับปัจจุบันประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ หากสิ้นสุดกำหนดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล วันที่ 31 ต.ค.2567 แล้ว ต้องติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นขึ้นตามฤดูกาลที่เข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าระว่างจีน-สหรัฐ ระลอกใหม่ ที่จะมีต่อราคาน้ำมัน จะมีผลต่อการพิจารณามาตรการดูแลราคาเชื้อเพลิงในประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของประชาชนอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

นายวิศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า แม้ส่วนตัวจะหมดวาระผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันช่วงกลางเดือนส.ค. 2567 นี้ ก็คงต้องให้เจ้าหน้าที่และผู้อำนวยการกองทุนคนต่อไป รับช่วงการทำหน้าที่เร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนให้กระเตื้องขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าน้ำมัน ตลอดจนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ต่อไป

"ตอนนี้ขั้นตอนสรรหาผอ.คนใหม่อยู่ในกระบวนการ โดยหากกระบวนการแล้วเสร็จไม่ทันตนเองครบวาระก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) แต่งตั้งรักษาการผอ. ขึ้นมาแทน ซึ่งยืนยันว่าไม่สะดุดแน่นอน"