การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง 'สะพานเชื่อมเกาะช้าง' 1.5 หมื่นล้าน

การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง 'สะพานเชื่อมเกาะช้าง' 1.5 หมื่นล้าน

การทางพิเศษฯ เดินหน้าลงทุน "สะพานเชื่อมเกาะช้าง" 1.5 หมื่นล้านบาท เสนอ 4 แนวเส้นทางที่เหมาะสม ตั้งเป้าตอกเสาเข็มในปี 2572 มั่นใจเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชน พร้อมหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยระบุว่า สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดตราดในปี 2563 และกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ.ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท เพื่อสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง

โดยเป้าหมายพัฒนาโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้าง และนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราด และการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองตราดได้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับจังหวัดตราด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี สถานะปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับจากนี้ หรือราวปี 2569 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทาง รูปแบบการลงทุน ตลอดจนความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนนำไปขออนุมัติโครงการ

การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง \'สะพานเชื่อมเกาะช้าง\' 1.5 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้ กทพ.ประเมินกรอบดำเนินงาน คาดว่าภายหลังศึกษารายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการภายในปี 2569 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2576

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น กทพ.คาดว่าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด จะใช้วงเงินลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจากการศึกษาทบทวน และรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาจากจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดของโครงการที่มีความเหมาะสม และหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดแนวเส้นทางเลือก จึงสามารถกำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการ จำนวน 4 แนวเส้นทางเลือก ดังนี้

การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง \'สะพานเชื่อมเกาะช้าง\' 1.5 หมื่นล้าน

แนวเส้นทางเลือกที่ 1 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม. 0+850 บ้านหนองปรือ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีระยะทางรวมประมาณ 9.2 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่าน ถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ และไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 8+550 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง

สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือ จะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น

การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง \'สะพานเชื่อมเกาะช้าง\' 1.5 หมื่นล้าน

แนวเส้นทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1 ซึ่งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม.0+850 มีระยะทางรวมประมาณ 9.95 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพร และท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.6+750 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง

สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือ จะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น

แนวเส้นทางเลือกที่ 3 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม.2+840  บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีระยะทางรวม ประมาณ 5.90 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.5+300 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง

สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100-200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น

แนวเส้นทางเลือกที่ 4 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม. 3+500 บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีระยะทางรวม ประมาณ 5.59 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเรือเกาะช้างอ่าวธรรมชาติ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.1+900 บ้านคลองสน ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง

สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้าง แนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งมีความกว้างประมาณ 150 - 200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น

ทั้งนี้ กทพ.จะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประชุม ครั้งที่ 1 เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) โดยเป็นการนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ซึ่งจะศึกษา และเปรียบเทียบแนวเส้นทางเลือกแต่ละแนว โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางที่มี ความเหมาะสมมากที่สุดของโครงการต่อไป

การทางพิเศษฯ ลุยสร้าง \'สะพานเชื่อมเกาะช้าง\' 1.5 หมื่นล้าน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์