เจาะลึกตลาดรถ" Hybrid" พระรองที่มาแรง
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่จากกลุ่มรถยนต์ BEV ที่เข้ามาตีตลาดได้อย่างรวดเร็ว จนมีส่วนทำให้บรรดาเจ้าตลาดเดิมต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น
โดยในปี 2023 ค่ายรถจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งได้สูงถึง 14% (เพิ่มขึ้นจาก 3% ณ ปี 2019) สวนทางกับค่ายญี่ปุ่นที่มีส่วนแบ่งยอดขายลดลงมาอยู่ที่ 73% จาก 86% ณ ปี 2019 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายรถ BEV จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 2 -3 ปีที่ผ่านมา แต่ความผันผวนในตลาดที่เกิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การปรับลดราคาขายลงบ่อยครั้ง เบี้ยประกันที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนของอัตราการเสื่อมมูลค่า มีผลทำให้ผู้บริโภคบางส่วนกังวลและหันมาสนใจพระรองอย่างรถยนต์ Hybrid กันมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น นับตั้งแต่ช่วงต้นปี (ม.ค. – ก.ค. 2024) ยอดจดทะเบียนสะสมรถยนต์ Hybrid จึงสูงถึง 8.9 หมื่นคัน เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 51%YTD สวนทางกับทิศทางตลาดรถ BEV ที่ชะลอตัวหรือขยายตัวได้เพียง 15%YTD
อนึ่ง เทรนด์รถยนต์ Hybrid ที่ร้อนแรงในช่วงนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยกอบกู้วิกฤตยอดขาย โดยเฉพาะจากภาวะซบเซาในตลาดรถกระบะแล้ว ยังกลายเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ค่ายรถญี่ปุ่นจะใช้เพื่อต่อกรกับกระแส BEV โดยเฉพาะ TOYOTA และ HONDA ที่ปัจจุบันมีการนำเสนอตัวเลือกรถ Hybrid ในเกือบทุกโมเดล ขณะที่ Minor brand เช่น NISSAN และ MITSUBISHI ก็ปรับกลยุทธ์โดยหันมาเจาะตลาดรถ Hybrid มากขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนอุปสงค์จากกลุ่มรถ Eco car ที่ความนิยมทยอยลดลงต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจการผลิตรถยนต์ Hybrid จึงมีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในอุตฯ ยานยนต์ไทย
โดยโครงการ EEC ยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักที่ค่ายรถต่างๆ เลือกลงทุนขยายสายการผลิตเครื่องยนต์ Hybrid อาทิ Toyota Motor ได้เลือกให้โรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ จ. ฉะเชิงเทรา เป็นสายการผลิตและประกอบแบตเตอรี่ Hybrid แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับ Mitsubishi Motors ที่กำลังเปิดสายการผลิตรถ HEV ครั้งแรกในไทย ณ โรงงานแหลมฉบัง 3 โดยมีมูลค่าลงทุนราว 500 ล้านบาท นอกจากนี้ นโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่ม Hybrid มากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นแรงหนุนสำคัญต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2027 อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยให้ทิศทางอุปสงค์ของกลุ่มรถ Hybrid เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดย SCB EIC ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ Hybrid ปี 2024 จะอยู่ที่ 1.1 แสนคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของตลาดรถยนต์นั่ง จากนั้นจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% จนสามารถครองส่วนแบ่งยอดขายในสัดส่วนสูงถึง 60% ภายในปี 2030
ทั้งนี้หากพิจารณานัยต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะพบว่า ความเฟื่องฟูของทิศทางการลงทุนและอุปสงค์ในตลาดรถ Hybrid นี้ มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศและอานิสงส์ทางตรงต่อธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากเหล่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ Hybrid ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดิมมีการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนและอุปกรณ์ขับเคลื่อน ตัวถัง สายไฟ ระบบส่งกำลัง รวมถึงยางล้อ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถเติบโตได้เท่าทันกับความต้องการจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มสงครามราคาที่อาจขยายวงกว้างสู่ตลาดรถ Hybrid ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันนี้นอกจากจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรด้อยลงแล้ว ยังจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ปรับลดลงต่อเนื่องในทุก ๆ ครั้งที่มีการประกาศลดราคาขายได้เช่นกัน