'ก.พ.ร.' จับมือ กต.จัดสัมนา 2024 KACPE International Public Policy Symposium
ก.พ.ร. จับมือ กระทรวงการต่างประเทศ ภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ อภิปราย 3 ประเด็นหลัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงภูมิภาค การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลกับการพัฒนาประเทศ
วันที่ 30 สิงหาคม 2567 นายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “2024 KACPE International Public Policy Symposium” ภายใต้หัวข้อ “Strengthening the Korea-ASEAN Comprehensive Strategic Partnership between Korea and ASEAN for Shared Future Development” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และ Korea Research Initiatives มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย (KRI@UNSW) โดยมีมูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี และศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center: ISC) ร่วมสนับสนุนด้วย
เพื่อเป็นเวทีหารือเชิงลึกเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ มีการนำเสนอและอภิปรายใน 3 ประเด็นหลัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงภูมิภาค การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลกับการพัฒนาประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมงานระดับผู้กำหนดนโยบายระดับสูง นักวิชาการ และนักวิเคราะห์นโยบายจากประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐเกาหลี และเครือรัฐออสเตรเลีย ประมาณ 100 คน
นายดุสิตกล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ด้านความมั่นคง ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 ในภาครัฐ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ในช่วงปี พ.ศ. 2567 – 2570 ในภาคธุรกิจ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ริเริ่มโครงการ เช่น Arthit CCS โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS)
ด้านสังคม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน รวมทั้งสิทธิและสวัสดิการด้านอื่น เช่น การลดค่าโดยสารยานพาหนะสาธารณะครึ่งราคา การลดหย่อนภาษีแก่บุตรกรณีที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุ 3 หมื่นบาทต่อผู้สูงอายุ 3 คนต่อปี การปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงและเหมาะสม
ทั้งนี้ภาครัฐได้อำนวยความสะดวกในการแจ้งเตือนสิทธิสวัสดิการของประชาชนตลอดช่วงชีวิตผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ด้านวัฒนธรรม มีจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (Soft Power) เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ หลุดพ้นความยากจน และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และในด้านการศึกษา มุ่งเน้นสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเปิดโอกาสให้ประชาชน ทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนไทย พร้อมมีทักษะ การเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก และมีโอกาสพัฒนา เพิ่มพูนหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดและความจำเป็น
โดยผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่สนใจได้ง่ายจากหลายช่องทาง ทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-learning) มีประสิทธิภาพด้านการก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล รัฐบาลมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล
โดยการขับเคลื่อนให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
เพื่อส่งเสริมการก้าวสู่ยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกให้ประชาชนติดต่อหน่วยงานรัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ และขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นต้นแบบของมหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ในชื่อโครงการ “Digital Korat”
นอกจากนี้ นายดุสิต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี พ.ศ. 2567 ยังเป็นปีที่สำคัญเนื่องจากครบรอบ 35 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี โดยประเทศไทยได้รับบทบาทเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์การเจรจาระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 การประชุมครั้งนี้จะเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของอาเซียนในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสาธารณรัฐเกาหลี และการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการจัดการความท้าทายใหม่ ๆ ในภูมิภาค