โรปแมป 5 ปี ดันไทยชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลโลก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์
“สศอ.” เปิดแผนโรดแมป 5 ปี หนุนภาคการผลิตไทยชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลโลก มูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดแตะ 5.5 หมื่นล้านบาท จ้างงานเพิ่มแสนคนต่อปี เล็งปักหมุดสงขลาตั้งนิคมฮาลาลภาคใต้ เชื่อมซัพพลายเชน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัว “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” หน่วยบริการเชื่อมโยงการทำงานและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ภายในงาน “ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium : สร้างแรงบันดาลใจนําอัตลักษณ์ไทยสู่สากล“ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567
โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี และตัวแทนหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวตอนหนึ่งในช่วงการเสวนาหัวข้อ "แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน" ว่า ตลาดฮาลาลโลกถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความต้องการสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฮาลาลที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปขอส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อาทิ ซาอุดิอาระเบีย บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นจึงมีความต้องการสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีความแตกต่าง ซึ่งการนำเสนอสินค้าฮาลาลที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยจะเป็นจุดแข็งในการนำเสนอสินค้าฮาลาลไทยไประดับโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย สปาไทย สมุนไพรไทย แฟชันไทย ท่องเที่ยวไทย ซึ่งครอบคลุมฮาลาลในทุกมิติ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสศอ. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยตามนโยบาลที่ได้มอบไว้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดฮาลาลเป็น 5.5 หมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงาน 1 แสนคนต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกฮาลาลเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี
นางวรวรรณ กล่าวต่อว่า โดยในระยะแรกมาตรการที่จะเป็นควิกวิน (Quick Win) ในการขับเคลื่อนอุตสาหากรรมฮาลาล คือการสร้างการรับรู้ศักยภาพของสินค้าฮาลาลไทยและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อทำให้การรับรองมาตรฐานฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่น โดยเฉพาะในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และขยายไปยังตลาดอื่นๆ รวมทั้งประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
ขณะเดียวกัน จะต้องสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการไทยให้ผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล โดยการจัดทำโปรแกรมสินเชื่อพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาล จาก 3 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารอิสลาม (ไอแบงก์)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาลในรูปแบบ “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” ที่จะเป็นการเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือจาก 12 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล เป็น One Stop Service เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายและมองภาพใหญ่ที่จะนำไปสู่การเสนอนโยบายต่อนายกฯ ได้ทันที
โดยในระยะกลาง ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคใต้ ที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นในภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี และเริ่มดำเนินการในปี 2568 โดยคาดว่าจะเป็นพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้
”ที่ผ่านมาวัตถุดิบอาหารทะเลภาคใต้ที่เป็นฮาลาลต้องส่งไปแปรรูปที่โรงงานสมุทรสาคร เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปในภาคใต้มีอยู่ไม่มาก และเมื่อส่งออกสินค้าต้องส่งไปที่ทางท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือปีนัง เนื่องจากท่าเรือสงขลาไม่ได้เป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ“
ดังนั้นในแผนระยะยาว เพื่อพัฒนาให้ภาคใต้เป็น Halal Valley ศูนย์กลางการผลิตที่เชื่อมโยงซัพพลายเชน ยกระดับการสินค้าฮาลาลไทยเพื่อการส่งออกและสามารถแข่งขันได้ จึงต้องมีการพัฒนาท่าเรือเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการส่งออกด้วย
นอกจากนี้ คือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ว่าจะห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจวิจัยและรับรองฮาลาล และการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการฮาลาล
นายณรงค์เดช สุขจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ของสำนักงานคณะกรรมการกลางฮาลาลแห่งประเทศไทยเดินหน้าการทำงานอย่างเต็มที่ในการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้เครื่องหมายการรับรองฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันมาตรฐานฮาลาลไทยได้รับการยอมรับจากองค์กรรับรองฮาลาลกว่า 144 แห่งทั่วโลก
”ขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า กรรมการกลางฯ ทำงานอย่างเต็มที่ในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับฮาลาลไทย ทั้งยังสร้างและอบรมบุคคลากรให้พร้อมรองรับในการตรวจรับรองฮาลาล โดยผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลเรื่องการส่งออก เพียงแค่พัฒนาและวิจัยโปรดักส์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดก็สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก“