วัดใจนโยบายค่าแรง ‘แพทองธาร’ 74 จังหวัดเสนอขึ้นไม่ถึง 400 บาท
อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดส่งข้อมูลค่าแรง 3 จังหวัดขึ้น 400 บาท “ภูเก็ต-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” อีก 23 จังหวัด ไม่ขอปรับ "รมว.แรงงาน" ยันปรับแน่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ 1 ต.ค.67 นี้ เว้นกลุ่มเอสเอ็มอี เตรียมลดสมทบประกันสังคมส่วนนายจ้าง 1% “คลัง” พร้อมออกมาตรการภาษีลดต้นทุน
นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง โดยในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ทยอยปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ในบางธุรกิจท่องเที่ยว 10 จังหวัด และได้ประกาศเมื่อเดือนพ.ค.2567 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.2567
จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจต่างออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ได้หารือเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กกร.ได้ประสานกับ กกร.กลุ่มจังหวัด พร้อมคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพื่อทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด ในการแสดงจุดยืนของ กกร.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการครบ 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ขั้นตอนการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดให้เสร็จภายในเดือนก.ย.2567 โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัด ได้ส่งข้อมูลค่าจ้างของแต่ละจังหวัดเข้ามาที่ส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ก.ย.2567
หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง และข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดมีอย่างน้อย 23 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท เช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี
นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดมีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันระหว่าง 2-42 บาท รวมทั้งส่วนใหญ่เสนอให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2568 เช่น อ่างทองเสนอปรับเพิ่มขึ้น 29 บาท, เลยเสนอปรับขึ้น 26 บาท
สมุทรปราการเสนอปรับขึ้นมากที่สุด 42 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 405 บาท แต่ข้อเสนอไม่ระบุวันที่มีผลบังคับใช้ ส่วนภูเก็ตเสนอปรับขึ้น 30 บาท เป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้เดือนม.ค.2568 ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวทำให้มี 3 จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์การพิจารณาได้อาศัยกฎหมายมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในคณะกรรมการค่าจ้างศึกษา และพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น
โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า และบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งาน หรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้
“แรงงาน” ยันดีเดย์ขึ้นค่าแรง 400 บาท 1 ต.ค.67 นี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศที่รัฐบาลได้มีการประกาศไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.2567 ขณะนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้ จะไม่รวมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีสินค้าราคาถูก และนำเข้าผิดกฎหมายเข้ามาตีตลาดเป็นจำนวนมาก จึงจะยกเว้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีก่อน
นอกจากนี้ ภายหลังจากที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะมีการเสนอแพ็กเกจการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งนอกจากมาตรการของกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลังรวมเข้ามาด้วย
เล็งลดเงินประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง1%
ส่วนกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะเสนอให้ ครม.พิจารณาลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง 1% เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยมีการหารือกับภาคเอกชน เช่น นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok:JCC) ถึงแนวทางการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ในประเทศไทยเบื้องต้นให้ JETRO และ JCC รับทราบ หลังจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้สอบถามและมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงในปี 2567 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการก็พอใจ และเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบส่วนหนึ่งได้
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นมาตรการอื่นๆ เบื้องต้น ได้แก่ การลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ 1.5% โดยในเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่ออกมาต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาด้วย
“คลัง” พร้อมออกมาตรการภาษีช่วยลดต้นทุน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ คาดว่า กระทรวงการคลัง จะมีการออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยให้นำค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ จะเป็นลักษณะคล้ายกับมาตรการที่เคยทำมาในอดีต เมื่อปี 2561 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า หรือประมาณ 3% ของอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยก่อนถึงจะสรุปได้ว่าจะมีมาตรการรูปแบบใด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์