เอกชนยื่นผู้ว่าฯ 77 จังหวัด ส่งหนังสือค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

เอกชนยื่นผู้ว่าฯ 77 จังหวัด ส่งหนังสือค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

"กกร." ค้านนโยบายปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ 77 จังหวัด ยื่นข้อเสนอปรับค่าแรงตามคุณภาพฝีมือแรงงาน ชี้ไม่มีประเทศไหนในโลกขึ้นค่าแรง 3 ครั้งใน 1 ปี

การประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ได้หารือเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กกร.ส่วนกลางได้มีการประสานกับ กกร.กลุ่มจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดเพื่อแสดงจุดยืนของ กกร.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 53 จังหวัด โดยภายในสัปดาห์นี้จะครบทุกจังหวัด เพื่อแจ้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และท่าทีของ กกร.ที่ขอไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขอให้มองถึงศักยภาพของแรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรีสกิลแรงงานให้กับตอบโจทย์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยทำจดหมายจนครบ 77 จังหวัดภายในวัน 5 ก.ค.2567” นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่า โดยไม่ควรจะมาปรับขึ้นทั่วประเทศในปีนี้ และส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะผู้ประกอบการได้มีการวางแผนงาน และงบประมาณประจำปีไว้ล่วงหน้าแล้ว 

รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะส่งผลกระทบกับแผนงาน และต้นทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ ก็คือ ทำให้เกิดการจ้างงาน และดูว่าค่าแรงของประเทศไทยเท่าไร สามารถสู้ และแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภายในประเทศแย่ และปัจจัยภายนอกก็มากดดัน ซึ่งหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค.2567 ตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นการขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก

“รัฐบาลกดดันอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ยิ่งตอนนี้ปิดโรงงานไปแล้วใกล้ๆ จะพันแห่ง เลิกจ้างไปจำนวนมาก การขึ้นค่าแรงทั่วประเทศจึงนับว่าเป็นสัญญาณอันตราย เพราะจากการสำรวจเรื่องค่าแรงวันนี้เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นอีก ขอการเมืองอย่ามากดดันภาคเอกชนเลย ซึ่งทางส.อ.ท. จะยังคงยืนยันในจุดยืนเดิม” นายทวี กล่าว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์