'แรมโบ้-เสกสกล' ลาออกบอร์ด IRPC หลังแต่งตั้ง 23 ส.ค.67
"แรมโบ้-เสกสกล" ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ กํากับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน IRPC หลังแต่งตั้ง 23 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ขณะที่บอร์ด กนอ.ยังไม่มีการลาออก
แหล่งจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า นายเสกสกล อัตถาวงศ์ (ดร.แรมโบ้ อีสาน) ได้ลาออกจาก กรรมการอิสระ บริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) บริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ นายแรมโบ้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระ กํากับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน IRPC ทดแทนนางประณต ติราศัย ในการประชุมบอร์ด IRPC เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายเสกสกล ที่ผ่านมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นกระทรวงที่พรรครวมไทยสร้างชาติกำกับดูแล
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายเสกสกล ไม่ได้มีการลาออกจากกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567
สำหรับนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้อีสาน” เป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับการเสนอชื่อจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้มีหนังสื่อที่ 80000001/550 ลงวันที่ 9 ส.ค.2567 และหนังสือที่ 80000001/55 ลงวันที่ 15 ส.ค.2567 เสนอชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการที่ลาออกแทนนางประณต ดิราศัย
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเคยเป็น สส.เพื่อไทย ต่อมาภายหลังรัฐประหารปี 2557 ได้ย้ายมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเคลื่อนไหวปกป้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ มีการลาออกไปและสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ 2 รอบ ครั้งแรก 27เม.ย. 2565 และกลับเข้าไปเป็นสมาชิกอีกครั้ง 9 ม.ค.2566 ต่อมา 3 ต.ค. 2566 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติทำให้พ้นจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
สำหรับ IRPC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่จ.ระยอง ซึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมภายใต้การจัดการ ของบริษัทฯ โดยโครงสร้างการผลิตประกอบด้วยโรงงานปิโตรเลียม และโรงงานปิโตรเคมีพร้อมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า
โดยธุรกิจปิโตรเลียม ได้ดำเนินธุรกิจกลั่นน้ำมัน โดยโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวม 215,000 บาร์เรลต่อวัน จัดอยู่ในอันดับ 3 ของกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้หลากหลายชนิด ประกอบด้วย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แนฟทา น้ำมันเบนซีน ดีเซล และน้ำมันเตา นอกจากนี้บริษัทฯ มีโรงงานผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Lube Base Oil Group 1) กำลังการผลิต 320,000 ตันต่อปี
และยางมะตอยขนาดกำลังการผลิต 600,000 ตันต่อปี ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดภายในประเทศ ยังถือเป็นโรงกลั่นรายแรกของประเทศไทยในการริเริ่มจำหน่ายยางมะตอยเกรด 40/50 เข้าตลาดในประเทศพร้อมด้วยคุณภาพมาตรฐานส่งออก มอก. นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบในการผลิตยางล้อรถ และยางสังเคราะห์ (Rubber Process Oil) ที่เป็นที่ยอมรับ และรับรองด้านคุณภาพในระดับสากล
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ได้แก่ โอเลฟินส์ อะโรเมติกส์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลาย ประกอบด้วย เม็ดพลาสติกกลุ่มโพลิโอเลฟินส์ (HDPE, PP, UHMW-PE) ด้วยกำลังการผลิต 931,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติกกลุ่มสไตรีนิคส์ (ABS, SAN, PS, EPS) ด้วยกำลังการผลิตรวม 383,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า POLIMAXX
นอกจากนี้ธุรกิจปิโตรเคมียังมุ่งเน้นการก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป ด้วยกาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ Paralene ผลิตภัณฑ์ที่ส่วนผสมจากธรรมชาติ Recycled Compound Resin เม็ดพลาสติกผสมรีไซเคิล Acetylene Black for Li-on Battery (Pim-L, Pim-AL) เป็นต้น
สำหรับ IRPC มีรายได้ครึ่งปีแรกของปี 2567 สุทธิกว่า 148,710 ล้านบาท ในงวดครึ่งแรกของปี 67 เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกของปี 66 จากราคาขายเพิ่มขึ้น 9% ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันถึง 2,138 ล้านบาท ทำให้ EBITDA อยู่ที่ 6,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 187% ดันกำไรสุทธิมาอยู่ที่ 812 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขายน้ำมันอากาศยาน Jet A1 มาตรฐาน JIG รองรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเติบโต