7 เดือนไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 5 พันล้านดอลลาร์

 7 เดือนไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 5 พันล้านดอลลาร์

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ก.ค.67 มูลค่า 547.81 ล้านดอลลาร์ ลด 6.47% ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนโยบายการค้า ฉุดความเชื่อมั่นบริโภค และบาทแข็งค่า ทำแข่งขันลด แต่ยอดรวม 7 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 5,103.78 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.65%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที (GIT)  เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ก.ค.2567 มีมูลค่า 547.81 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.47% ลดลงติดต่อกัน 2 เดือน เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภค ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าในหลายประเทศหลังการเลือกตั้ง และเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,728.80 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 114.28%

ส่วนยอดรวม 7 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 5,103.78 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.65% หากรวมทองคำ มูลค่า 9,301.92 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.86%

สำหรับการส่งออกทองคำเดือน ก.ค.2567 มีมูลค่า 1,180.99 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 434.13% เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ก.ค. ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,480.3 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์ การปรับลดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ย และกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำเพิ่ม ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น

ส่วนยอดรวม 7 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 4,198.15 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 24.06% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 184.12%

 7 เดือนไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 5 พันล้านดอลลาร์

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 12.56% สหรัฐฯ เพิ่ม 9.13% อินเดีย เพิ่ม 60.08% เยอรมนี เพิ่ม 9.45% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 11.87% เบลเยียม เพิ่ม 43.20% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.67% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 5.30%  อิตาลี ลด 0.33% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 15.07%

ด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 5.92% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 20.66% พลอยก้อน เพิ่ม 65.16 % พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 5.31% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 2.92% ซึ่งในกลุ่มพลอย เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เพชรก้อน เพิ่ม 0.06% เพชรเจียระไน เพิ่ม 0.29% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 8.94% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 38.36% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 26.12%

 

นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก คาดว่า จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค โดยตลาดหลักทั้งยุโรป และจีน เริ่มฟื้นตัวและมีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังคงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่ 3.2% เช่นเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ เติบโตแผ่วจากปัจจัยกดดันทางการเงินที่ตึงตัว

ขณะที่ประเทศในยูโรโซนฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่แนวโน้มการเติบโตช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในระดับต่ำและยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการเติบโตในอินเดียและจีนถูกปรับเพิ่มขึ้นและคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้า ยังเป็นประเด็นที่อาจกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่อุปทานต่อไป

ทั้งนี้ การขยายมาตรการของประเทศกลุ่ม G7 ในการห้ามนำเข้าเพชรที่มีแหล่งกำเนิดจากรัสเซียตั้งแต่ขนาด 0.5 กะรัตขึ้นไป ในวันที่ 1 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา จะยิ่งสร้างความกดดันต่อผู้ส่งออกเพชรมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม GIT มีข้อเสนอแนะว่า ผู้ประกอบการควรจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วย เพราะไม่เพียงช่วยยกระดับการผลิต แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถบุคลากร และพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ โดยการดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น