'สุริยะ' เผยทางออกรถไฟฟ้า 20 บาท ใช้รายได้ รฟม. 1.6 หมื่นล้าน จ่ายเอกชน

'สุริยะ' เผยทางออกรถไฟฟ้า 20 บาท ใช้รายได้ รฟม. 1.6 หมื่นล้าน จ่ายเอกชน

“สุริยะ” ยันกฤษฎีกาไฟเขียวนำเงินส่วนแบ่งรายได้ รฟม. สะสม 1.6 หมื่นล้านบาท จ่ายชดเชยเอกชน เดินหน้านโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาท” ทุกสีทุกสายตามเป้าหมาย ก.ย.2568 พร้อมเร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมต้องเกิด หวังดึงเม็ดเงินจ่าย “สายสีเขียว” เข้าร่วมโครงการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากระทรวงฯ ยังมีเป้าหมายผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสีทุกสาย ภายในเดือนก.ย.2568 โดยขณะนี้เตรียมตั้งคณะทำงาน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อประสานทุกหน่วยงาน ในการติดตามทุกปัญหา และเร่งแก้ไขทันที

ซึ่งภายหลังจัดตั้งหน่วยงานนี้ มั่นใจว่าจะสามารถศึกษาแนวทางดำเนินการนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ศึกษารายละเอียดทั้งในเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาชดเชยรายได้เอกชน การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... และ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เป็นต้น

พ.ร.บ.กรมราง และ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เรื่องนี้ต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือน ก.ย.2568 เพราะเป็นกฎหมายสำคัญที่จะสนับสนุนนโยบายนี้ เมื่อมี พ.ร.บ.กรมราง เราจะสามารถเจรจา และให้เอกชนเข้าร่วมได้ โดยเงินชดเชยรายได้ของเอกชน เรายังจะตั้งกองทุนขึ้นมา แหล่งเงินมาจากเงินงบประมาณ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และเงินกำไรสะสมของ รฟม. เอามาประเดิมเข้ากองทุนเป็นส่วนแรก”

สำหรับสถานะของการผลักดัน พ.ร.บ.กรมราง และ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ยอมรับว่ากว่ากฎหมายแต่ละฉบับ จะมีผลบังคับใช้ได้ ต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งการตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งเบื้องต้นจากการประสานไปยัง สคก. พบว่าต้องใช้เวลาตรวจประมาณ 4 เดือน โดยตนเกรงว่าจะช้าเกินไป และไม่ทันกับเป้าหมายที่วางไว้ แต่ทาง สคก. ก็รับจะช่วยเร่งรัดในการดำเนินการให้

ขณะเดียวกันต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวต่อไป โดยยังคงมั่นใจว่าจะทันกรอบกำหนด เพราะภาพรวมขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 เดือน จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ที่แน่ชัดคือ ในช่วง 2 ปีแรกของการเริ่มต้นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย กระทรวงฯ สามารถจัดหาเงินกองทุนตั๋วร่วมที่จะใช้ชดเชยรายได้ให้กับเอกชนได้แล้ว จากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายตั้งแต่เดือนก.ย.2568 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8 พันล้านบาท หรือรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

โดยขณะนี้กระทรวงฯ ได้สอบถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อนำเงินกำไรสะสมของ รฟม. จากส่วนแบ่งรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัจจุบันสะสมราว 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาท นำมาเป็นเงินก้อนแรกสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วม เพื่อรองรับการจ่ายชดเชยให้กับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสาย แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้จะดำเนินการครอบคลุมทุกสีทุกสายต้องเดินหน้าไปด้วย พ.ร.บ.กรมราง และ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อให้สามารถนำเงินสะสมของ รฟม.ไปจ่ายชดเชยให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

“เรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วม ไม่น่ามีปัญหา เงินส่วนของ รฟม. ทางกระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบกับ สคก. แล้วว่าสามารถดำเนินการได้ แต่จะมีปัญหาว่า หากร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ยังไม่ประกาศใช้ จะไม่สามารถนำเงิน รฟม. มาใช้สนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ดังนั้นเพื่อให้เรื่องนี้ดำเนินการได้ไม่ติดขัด จึงต้องมีคณะทำงาน เพื่อเข้าไปเร่งรัดในรายละเอียดต่างๆ แก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์