'สุรพงษ์' เล็งหารือ 'คลัง' ปรับโครงสร้างหนี้การรถไฟฯ หวังหลุดขาดทุนสะสม

'สุรพงษ์' เล็งหารือ 'คลัง' ปรับโครงสร้างหนี้การรถไฟฯ หวังหลุดขาดทุนสะสม

“สุรพงษ์” ลุยปรับโครงสร้างหนี้การรถไฟฯ หวังดันองค์กรหลุดขาดทุนสะสม 2.3 แสนล้านบาท เล็งหารือกระทรวงการคลัง ปิดบันทึกหนี้เสียจากบริการรถไฟเชิงสังคม คาดได้ข้อสรุปในปี 2568 พร้อมบริหารจัดการที่นั่งโดยสารใหม่ ปรับเพิ่มสัดส่วนบริการเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยระบุว่า ปัจจุบันพบว่า รฟท.มีหนี้สะสมสูงระดับ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุบางส่วนมาจากการวิ่งให้บริการรถไฟเชิงสังคม และข้อเท็จจริงพบว่า ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ไม่ครบตามที่กำหนด

โดยจากการบันทึกทางบัญชีของ รฟท.มีการระบุขอเงินอุดหนุน PSO ปีละ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพียงปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท ส่วนต่างที่เหลือจึงถูกบรรจุเป็นหนี้สะสม ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ มีนโยบายในการเจรจาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สะสมจากการจัดสรรเงินอุดหนุน PSO ไม่เพียงพอ

“ตอนนี้ส่วนตัวต้องการหารือแนวทางปรับรายละเอียดทางบัญชีของการรถไฟฯ เพื่อไม่นำเอาบริการรถไฟเชิงสังคม ไปบรรจุเป็นหนี้แต่ละปีของการรถไฟฯ เพราะเรื่องนี้การรถไฟฯ ให้บริการเพื่อสังคม ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะสามารถเป็นไปได้ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากมีการหารือแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะช่วยปลดหนี้ให้การรถไฟเป็นอิสระ โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้บริการของผู้โดยสาร”

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของ รฟท.จะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพราะหากไม่แก้ไขในเรื่องนี้จะทำให้ รฟท.กลายเป็นจำเลย ประเด็นการบริหารธุรกิจไม่ได้จนเกิดหนี้ ทั้งที่เป็นนโยบายเพื่อสังคม ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2568

ขณะที่แนวทางในการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อหนี้ รฟท. รวมไปถึงการยกเลิกบริการรถไฟเชิงสังคม เพื่อยกเลิกการขอรับเงินอุดหนุน PSO จากภาครัฐ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่อยากดำเนินการ เพราะไม่ต้องการเห็น รฟท.อยู่ในสภาพองค์กรขาดทุนต่อไป แต่จะดำเนินการอย่างไรคงต้องหาแนวทาง และจัดหาพันธมิตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริการรถไฟเชิงสังคม ได้กำหนดให้มีผู้โดยสารใช้บริการ 26 ล้านที่นั่งต่อปี แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการเพียง 18.7 ล้านที่นั่งต่อปี โดยขณะนี้ รฟท.มีแนวคิดทยอยปรับรูปแบบการให้บริการ โดยบริหารจัดการที่นั่งโดยสาร จัดสรรที่นั่งรองรับบริการเชิงสังคมให้สอดคล้องต่อความต้องการที่แท้จริง และปรับที่นั่งที่เหลือราว 7.3 ล้านที่นั่งต่อปี มารองรับความต้องการของบริการเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้

นอกจากนี้ หากร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้ รวมทั้งมีการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ และโครงการระบบรางอื่นๆ เพิ่มขึ้น จะสร้างโอกาสทางการหารายได้แก่ รฟท.จากการปลดล็อกกฎหมายให้เอกชนเข้ามาเดินรถด้านระบบขนส่งทางราง ส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 75-80% จากปัจจุบันที่มีการใช้ประโยชน์อยู่กว่า 20% เป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับ รฟท.เพิ่มขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์