ระทึกสินบนบริษัทสหรัฐ 'จอห์นเดียร์' จับตากองทัพอากาศ - กรมทางหลวง

ระทึกสินบนบริษัทสหรัฐ 'จอห์นเดียร์' จับตากองทัพอากาศ - กรมทางหลวง

สื่อนอกตีข่าวบริษัทรถไถชื่อดังในอเมริกา ‘จอห์น เดียร์’ ติดสินบนใน ‘ไทย’ ก.ล.ต.สหรัฐอ้างจ่ายหลายที่รวมถึง ‘กองทัพอากาศ’ และ ‘กรมทางหลวง’ ตั้งแต่ของขวัญยันอาบอบนวด บริษัทดังขอยอมความกับ ก.ล.ต.สหรัฐจ่ายยุติคดีกว่า 300 ล้านบาท

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า บริษัท “เดียร์ แอนด์ คอมพานี” (Deere & Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจรถแทรกเตอร์ในชื่อ “จอห์น เดียร์” (John Deere) ตกลงยอมจ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท) ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ เพื่อยุติคดี “การจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทย” แลกกับผลตอบแทนทางธุรกิจ

ก.ล.ต.สหรัฐระบุว่า ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเดียร์ ได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานของไทย ซึ่งรวมถึง “กองทัพอากาศไทย” และ “กรมทางหลวง” แม้ว่าจะมีกฎระเบียบของบริษัทห้ามการให้สิ่งใดๆ อย่างไม่เหมาะสม เพื่อให้มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ก.ล.ต.สหรัฐ เปิดเผยว่า เวิร์ทเก้นได้ทำการจ่ายสินบนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ไปจนถึงปี 2563 ในรูปของเงินสด การเลี้ยงอาหาร การจ่ายเงินในรูปค่าที่ปรึกษา การพาเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปเยี่ยมชมโรงงานในสวิตเซอร์แลนด์และประเทศอื่นในยุโรป รวมทั้ง “การให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด”

พฤติกรรมของบริษัทถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการบัญชีภายใน ของกฎหมายต่อต้านการให้สินบนของรัฐบาลกลางสหรัฐ หรือพระราชบัญญัติการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act)

ทั้งนี้ บริษัทเดียร์จ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท) ให้กับ ก.ล.ต.สหรัฐเพื่อยอมความ โดยในจำนวนนี้ 4.5 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าปรับทางแพ่ง (civil fine), 4.34 ล้านดอลลาร์ เป็นการชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด (disgorgement) และอีก 1.09 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าดอกเบี้ย

บริษัทรถแทรกเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐยอมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.ด้วยการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว และบริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกฎระเบียบของรัฐ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน

“ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดนโยบายของบริษัท และมาตรฐานด้านจริยธรรมชัดเจน และไม่สอดคล้องกับคุณค่าหลักของเรา โดยเฉพาะพันธกรณีของเราที่มีต่อความซื่อสัตย์สุจริต และเราขอประณามอย่างรุนแรงต่อการกระทำดังกล่าว” แถลงการณ์ของเดียร์ ระบุ

สำหรับบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือของเดียร์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย จดทะเบียนธุรกิจวันที่ 25 ก.ค.2540 ทุนจดทะเบียน 176 ล้านบาท ทำธุรกิจค้าส่ง และค้าปลีกเครื่องจักร และเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายและก่อสร้าง โดยมีกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย นายโสพลชัย เกื้อศิริกุล , นายป๊อก ซัม ลุง และนายธีร์ ศรีพวาทกุล

ขณะที่ผลดำเนินการย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2566 มีรายได้รวม 641 ล้านบาท กำไรสุทธิ 27 ล้านบาท , ปี 2565 มีรายได้รวม 912 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65 ล้านบาท , ปี 2564 มีรายได้รวม 1,153 ล้านบาท กำไรสุทธิ 39 ล้านบาท , ปี 2563 มีรายได้รวม 1,260 ล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้รวม 1,009 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52 ล้านบาท

ส่วนข้อกล่าวหาที่เวิร์ทเก้นได้ทำการจ่ายสินบนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ไปจนถึงปี 2563 เป็นช่วงที่ครอบคลุมการบริหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 คน คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ปี 2558-2562, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปี 2562-2566 รวมทั้งเป็นช่วงที่อยู่ในการบริหารของอธิบดีกรมทางหลวง 3 คน คือ นายธานินทร์ สมบูรณ์ ปี 2559-2561, นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ปี 2561-2562 และนายสราวุธ ทรงศิวิไล ปี 2562-2567

รวมทั้งข้อกล่าวหาการจ่ายสินบนดังกล่าวอยู่ในช่วงการบริหารกองทัพอากาศของผู้บัญชาการกองทัพอากาศ 4 คน คือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ปี 2559-2561, พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ปี 2561-2562, พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ปี 2562-2563 และ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ปี 2563-2564

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเดียร์ ได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานของไทยโดยอ้างอิงถึงกรมทางหลวงนั้น ประเด็นนี้ตนเพิ่งทราบข้อมูล และอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์