ขนส่งไทยยังใช้พลังงานสูง แนะใช้HEVก่อนเปลี่ยนสู่EV

ขนส่งไทยยังใช้พลังงานสูง  แนะใช้HEVก่อนเปลี่ยนสู่EV

ข้อมูลจากรายงาน โครงการประเมินการลด GHG จากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ โดยสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร(สนข.)

ระบุว่า  ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายปริมาณเท่ากับ 83,068 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(ktoe) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 สัดส่วน  1.4%  

โดยมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในสาขาเกษตรกรรม 2,266 ktoe คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย มีอัตราเพิ่มขึ้น5.3%  สาขาอุตสาหกรรม 3,0451 ktoe คิดเป็นสัดส่วน36.7% มีอัตราลดลง5.4%  สาขาบ้านอยู่อาศัย 9,969 ktoe คิดเป็นสัดส่วน 12% มีอัตราเพิ่มขึ้น2.5% สาขาธุรกิจการค้า 7,139 ktoe คิดเป็นสัดส่วน 8.6% มีอัตราเพิ่มขึ้น 6.5% และสาขาขนส่ง มีปริมาณการใช้พลังงานมากที่สุด 32,978 ktoe คิดเป็นสัดส่วน 39.7% มีอัตราเพิ่มขึ้น 1.1%

ในส่วนของสาขาขนส่งซึ่งเป็นสาขาที่ใช้พลังงานปริมาณมากที่สุด พบว่าในปี พ.ศ. 2566 สาขาขนส่งทางบกใช้พลังงานมากสุดปริมาณ 27,296 ktoe คิดเป็น 82.8% ตามมาด้วยสาขาขนส่งทางอากาศ 4,091 ktoe คิดเป็น 12.4 %ทางน้ำปริมาณ 1,486 ktoe คิดเป็น 4.5% และสาขาที่ใช้พลังงานน้อยที่สุดคือทางรางปริมาณ 105 ktoe คิดเป็น 0.3% จากพลังงานในสาขาขนส่งทั้งหมด

(ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2567) ดุลยภาพพลังงานของประเทศไทย 2566 (Thailand Energy Balance 2023))

สำหรับแนวโน้มการปล่อยก๊าซ CO2 ในประเทศไทย จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2566 ในภาพรวมมีการปล่อย CO2 ลดลง2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

โดย ภาคอุตสาหกรรม ลดลง 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ลดลง 3.5%  ภาคการขนส่ง เพิ่มขึ้น 0.1% และ ภาคการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

       ดังนั้น ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles - HEV) กำลังกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการก้าวไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอนาคต แต่ยังต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งาน ซึ่งHEV นั้นไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะนำพาผู้บริโภคเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

ตามผลสำรวจจาก Deloitte ความสนใจในรถยนต์ไฮบริด (HEV) ของคนไทยพุ่งแรง จากเดิมเพียง 10% ตอนนี้พุ่งสูงถึง 19% นี่เป็นสัญญาณว่ารถยนต์ประเภทนี้กำลังเป็นที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจจากรัฐบาลและการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

       ความนิยมในไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ ค่ายรถยนต์หลายแห่งได้เสนอรถยนต์ในกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่น มีไฮบริดเกือบทุกรุ่นให้เลือก ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย

         รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่กับมาตรการสนับสนุน HEV จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จในหลายด้านทั้ง การลงทุนในประเทศ : การลงทุนต่อเนื่อง 50,000 ล้านบาท ใน 4 ปีข้างหน้า,การเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ : ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศไทย ,การเสริมฐานผู้ผลิตไทย : รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ระดับโลก : ตอกย้ำความแข็งแกร่งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทแบบครบวงจรในระดับโลก

ในขณะที่ไทยกำลังเดินหน้าอย่างแข็งขัน รวมถึงรัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการสำคัญหลายด้านเพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก การสนับสนุนการใช้ HEV ก็กำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน หลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนการใช้ HEV อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV เช่น  ยุโรป  ญี่ปุ่น สหรัฐ ซึ่งต่างมีรูปแบบมอบเงินอุดหนุนในช่องทางต่างเพื่อสนับสนุนการใช้ HEV มากขึ้น 

ดังนัน HEV ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นก้าวสำคัญที่นำพาเราเข้าสู่ยุคใหม่ของยานยนต์ ด้วยการสนับสนุนจากบีโอไอที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการจูงใจต่างๆ ประเทศไทยก็พร้อมก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก” ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต