'เอกนัฏ' ดัน นิคมฯ เอสเอ็มอี เอื้อซัพพลายเชนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

'เอกนัฏ' ดัน นิคมฯ เอสเอ็มอี เอื้อซัพพลายเชนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

"เอกนัฏ" ลุยปั้นนิคมเอสเอ็มอี ดึงผู้ผลิตรายเล็ก-ใหญ่ ไว้ด้วยกัน หนุนซัพพลายเชนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย จ่อรื้อทุกกองทุนเหลือที่เดียว เพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

KEY

POINTS

  • จึงมีแนวคิดที่จะทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก (นิคมเอสเอ็มอี) ให้สามารถเปิดให้มีการลงทุนต่ำ พร้อมหาเงินลงทุนจากหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายของรัฐบาลก็ถือเป็นกลไกสำคัญ
  • ไทยมีนิคมฯ เยอะ การทำธุรกิจกระจัดกระจาย ทับซ้อนการทำงานระหว่างกันหากทำให้โรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ผลิตชิ้นส่วน หรือซัพพลายเชนอยู่ในที่เดียวกันก็จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ดี 
  • เมื่อมีการบูรณาการนิคมฯ แล้ว การสนับสนุนเอสเอ็มอีก็ง่ายขึ้น โดยการจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยจะรวบรวมกองทุนที่มีอยู่แล้วแบบกระจัดกระจาย ที่มีภารกิจหลากหลายทับซ้อนร่วมภารกิจเดียวกันเป็นอาวุธสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การย้ายฐานของอุตสาหกรรม เกิดจากแนวคิดที่ว่า เมื่อลงพื้นที่ต่างๆ มักพบว่าในพื้นที่ของประเทศไทยมีทั้งบ้านพักที่อยู่อาศัยและโรงงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น จึงมองว่า ผิดหลักเศรษฐกิจที่ว่า ผู้ผลิตควรให้อยู่ร่วมกับผู้ค้า ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ผ่านมามีแนวคิดในการบริหารนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก อาทิ นิคมอุตสาหกรรมใหม่ นิคมฯ สีเขียว นิคมฮาลาล เป็นต้น 

ทั้งนี้ ตนจึงมีแนวคิดที่จะทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก (นิคมฯ SME) ให้สามารถเปิดให้มีการลงทุนที่มีต้นทุนที่ไม่สูง ช่วยผู้ประกอบการประหยัดเงินทุนได้ ดังนั้น จะต้องหาเงินลงทุนจากหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายของรัฐบาลก็ถือเป็นกลไกสำคัญ

"เรามีนิคมฯ อยู่เยอะ การทำธุรกิจยังกระจัดกระจาย มีการทับซ้อนการทำงานระหว่างกันหากทำให้โรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ผลิตชิ้นส่วน หรือซัพพลายเชนอยู่ในที่เดียวกันก็จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ดี เป็นแนวคิดที่ว่าผู้ผลิตควรอยู่ใกล้กับลูกค้า อีกทั้งเมื่ออยู่ด้วยกันก็จะสามารถดูแลง่ายขึ้นด้วย" 

ดังนั้น เมื่อมีการบูรณาการนิคมฯ แล้ว การสนับสนุนเอสเอ็มอีก็ง่ายขึ้น โดยการจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยจะรวบรวมกองทุนที่มีอยู่แล้วแบบกระจัดกระจาย ที่มีภารกิจหลากหลายทับซ้อนและแยกกันบางกองทุนมีงบประมาณหลักหมื่นล้านบาท เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ราว 20,000 ล้านบาท และบางกองทุนหลักพันล้านบาท ไม่มีการบรูณาการ ต้องรวบรวมมาเป็นภารกิจชัดเจนเป็นอาวุธสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย โดยจะต้องเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้ภารกิจต่าง ๆ สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการเติมเต็มห่วงโซ่ทั้งหมด ที่ต้องปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี และ วิกฤติโลกเดือด หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่สามารถอยู่รอดได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กจะเหนื่อยหน่อย เลยต้องมีกองทุนฯ เพื่อนำเงินไปช่วยธุรกิจรายเล็ก รวมถึงช่วยชดเชยและส่งเสริมรูปแบบภาษี ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม ให้ทำธุรกิจได้ง่ายที่สุดที่ไม่สร้างภาระให้ประเทศ อีกทั้ง ในการออกใบอนุญาตกระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย

นายเอกนัฏ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วลำพังการดำเนินงานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว ถือว่ายังเป็นอาวุธที่จำกัด การจะทำงานสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือกับกน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน เอกชนอย่าง สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ฯลฯ ที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการโดยเฉพาะภารกิจที่ต้องแก้กฎระเบียบกติกา ขับเคลื่อนในนโยบายการลงทุนเพื่อให้สำเร็จได้ 

"เมื่อการทำงานที่ผสมผสานความร่วมมือ มีการปรับกฏระเบียบจะช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงได้ช่วยคิดปรับภาพอุตสาหกรรมให้ชัดขึ้น และไปในภาพเดียวกัน ร่วมปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ โดยผลงานที่คิดจะอยู่คู่กับกระทรวงอย่างยั่งยืนตลอดไป เป็นครั้งหนึ่งใสประวัติศาสตร์" นายเอกนัฏ กล่าว