3 เหตุผล 'การบินไทย' ไม่ควรกลับเป็น 'รัฐวิสาหกิจ'

3 เหตุผล 'การบินไทย' ไม่ควรกลับเป็น 'รัฐวิสาหกิจ'

เปิด 3 เหตุผล “การบินไทย” ไม่ควรกลับไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายเพื่อความคล่องตัว ปราศจากการแทรกแซงด้านนโยบาย และแต่งตั้งโยกย้ายฝ่ายบริหาร

KEY

POINTS

  • เปิด 3 เหตุผล "การบินไทย" ไม่ควรกลับไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายเพื่อความคล่องตัว ปราศจากการแทรกแซงด้านนโยบาย และแต่งตั้งโยกย้ายฝ่ายบริหาร
  • เปิดทางขายหุ้นให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) เฟ้นหา "ผู้ถือหุ้นใหม่" ที่เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร
  • จับตาความเคลื่อนไหวบุคคลภายนอก เริ่มแทรกแซงตั้งตัวแทนนั่งคณะกรรมการใหม่ หลังการบินไทยเตรียมยื่นออกแผนฟื้นฟูกิจการ

 

 

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินกิจการภายใต้ “บริษัทเอกชน” มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี นับจากวันที่ 22 พ.ค.2563 กระทรวงการคลัง ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.03% ขายหุ้นให้กับ กองทุนวายุภักษ์ โดยเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กระทรวงการคลัง เหลือสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 47.86% ทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ทันที

เช่นเดียวกันในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากวันที่ 27 พ.ค.2563 ศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ พร้อมทั้งกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 17 ส.ค. 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ฟื้นฟูกิจการ”

ขณะที่ล่าสุดการบินไทยประกาศความพร้อมเตรียมนำองค์กรออกจาก แผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดแผนดำเนินงาน แบ่งเป็น

ภายในเดือน ก.ย. 2567

ยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ภายในเดือน พ.ย.2567

เริ่มกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม

ภายในเดือน ธ.ค.2567

เข้าสู่กระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง

ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568

ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ฯ

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงทิศทางดำเนินงานหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา การบินไทยไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นสายการบินแห่งเดียวของโลกที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 และไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานที่ดี นำพาองค์กรมาถึงวันนี้ ที่ผลการดำเนินงานกลับมาเป็นบวก กำไรปีก่อนดีที่สุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา

และเงื่อนไขสำคัญของการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ การทำให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ทำได้แล้ว เหลือเพียงการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเตรียมออกหุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน ถ้าทำได้เรียบร้อยจะทำให้ได้เงิน 8 หมื่นล้านบาท และส่วนทุนกลับมาเป็นบวก

อย่างไรก็ดี เมื่อการบินไทยใกล้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลายฝ่ายมีคำถามถึงการกลับไปเป็น “รัฐวิสาหกิจ” โดยจากการร่วมพูดคุยครั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวม 3 เหตุผลที่การบินไทยไม่ควรกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ แบ่งออกเป็น

1.การแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร

การบินไทยที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อถึงเวลาของการแต่งตั้งฝ่ายบริหาร จะมีการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก และมีการวิ่งเต้นเพื่อเข้ามานั่งในตำแหน่งฝ่ายบริหารของการบินไทย ดังนั้นหากผู้บริหารไม่เก่ง ได้ตำแหน่งมาจากการวิ่งเต้น และการแทรกแซง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตการบินไทยก็จะกลับไปแบบเดิม

2.การกำหนดนโยบายจากภาครัฐ

ผ่านมาการบินไทยต้องบริหารงานภายใต้นโยบายจากภาครัฐ หลายครั้งที่การพิจารณางานของฝ่ายบริหาร แต่ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบกฎระเบียบ การถูกตรวจสอบจากองค์กรภายนอก สาระสำคัญของการประชุมถูกใช้เวลาเกิน 50% ของการประชุมต้องพิจารณากฎระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่กว่า 95% พิจารณาประเด็นธุรกิจ

3.เปิดโอกาสผู้ถือหุ้นที่เชี่ยวชาญธุรกิจ

เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการให้การบินไทยอยู่สถานะบริษัทเอกชน เพราะต้องการให้บริหารงานแบบที่เป็นอยู่เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง และมีความสามารถการจ่ายคืนหนี้ อีกทั้งเพื่อทำให้การบินไทยมีผู้ถือหุ้นหลากหลายและมีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเตรียมเปิดขายหุ้นให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) หาผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านการบิน

แหล่งข่าวจากการบินไทย เผยว่า หนึ่งในเงื่อนไขออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คือ การบินไทยจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการใหม่ เพื่อเตรียมเข้ามาบริหารองค์กร และขณะนี้พบว่าเริ่มมีการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก ในการแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาในคณะกรรมการใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่การบินไทยไม่อยากให้เป็น และยังอยากเห็นการบินไทยเป็นบริษัทที่ปราศจากการแทรกแซง บริหารธุรกิจด้วยความคล่องตัว