สินบนข้ามชาติสะเทือน 'คมนาคม' จาก 'กรมเจ้าท่า' ถึง 'กรมทางหลวง'

สินบนข้ามชาติสะเทือน 'คมนาคม'  จาก 'กรมเจ้าท่า' ถึง 'กรมทางหลวง'

สินบนข้ามชาติกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง “จอห์น เดียร์” ตกลงยอมจ่ายเงินให้ ก.ล.ต.สหรัฐ ยุติคดี “การจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทย” แลกกับผลตอบแทนทางธุรกิจ 

สินบนข้ามชาติกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บริษัท “เดียร์ แอนด์ คอมพานี” (Deere & Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจรถแทรกเตอร์ในชื่อ “จอห์น เดียร์” (John Deere) ตกลงยอมจ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ 

การจ่ายเงินดังกล่าว บริษัท “เดียร์ แอนด์ คอมพานี” เพื่อยุติคดี “การจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทย” แลกกับผลตอบแทนทางธุรกิจ หลังจาก ก.ล.ต.สหรัฐระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) บริษัทในเครือจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทยหลายหน่วยงาน รวมถึง “กองทัพอากาศไทย” และ “กรมทางหลวง” 

นับเป็นอีกครั้งที่หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมถูกกล่าวหาเรื่องการรับสินบน โดยก่อนหน้านี้ “กรมเจ้าท่า” ถูกกว่าวหาในคดีการรับสินบนข้ามชาติโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช 

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว สืบสวน บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (MHPS) ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ทางการไทย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ MHPS ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผ่านนายเป็นมูลค่า 60 ล้านเยน หรือ 20 ล้านบาท โดย MHPS สืบสวนภายในและยืนยันว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประพฤติผิดจริง

ป.ป.ช.ได้สอบสวนและสรุปการให้สินบนเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยได้มีการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราวกับกรมเจ้าท่า รองรับเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส

การขนส่งชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทางเรือหยุดชะงักในเดือน ม.ค.-ก.พ.2558 โดยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่านครศรีธรรมราชไม่อนุญาตการนำเรือเข้าเทียบท่าเพราะเรือมีขนาดเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต และเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ได้เรียกสินบน 20 ล้านบาท จากบริษัทญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ระบุว่า บริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม ได้ช่วยเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท โดยจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริงในเดือน ก.พ.2558

ต่อมาผู้แทน  MHPS เข้าพบกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ บริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งมอบเงินสินบน 20 ล้านบาท ณ บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ในเดือน ก.พ.2558

หลังจากส่งมอบเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐแล้วเรือลำเลียงเข้าเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ติดขัด แม้เรือจะมีขนาดเกิน 500 ตันกรอส หลังจากนั้นคดีเข้าสู่กระบวนการของ ป.ป.ช.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย เมื่อปี 2562 กรณีร่วมกันเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนให้เรือลำเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ

หลังจากนั้น นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562 ว่า กรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวและมีคำสั่งให้ น.ท.ฉัตรกุล (ทวีศักดิ์ หรือ สาธิต) วณิชชนัตถ์ (ชินวรณ์) ออกจากราชการ จากกรณีร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ประกอบด้วย

1.รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท้องเนียน 

2.ผู้ใหญ่บ้าน 

3.สารวัตรตำรวจน้ำ 

ทั้งเพื่อเรียกรับสินบน 20 ล้าน โดยแลกกับการอนุญาตให้เรือขนชิ้นส่วนโรงไฟฟ้าเข้าเทียบท่าเรือที่อำเภอขนอม โดยมิชอบอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน

เมื่อพิจารณากรณีสินบนข้ามชาติของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จากญี่ปุ่น และ บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี จากสหรัฐ เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายภายในของญี่ปุ่นและสหรัฐที่ดำเนินการในคดีการทุจริตของทั้ง 2 บริษัท ที่มาขายสินค้าในไทย โดยเป็นการยอมรับความผิดและจ่ายเงินค่าปรับเพื่อยุติคดี และเป็นเหตุให้ ป.ป.ช.เข้ามาสอบสวน

รวมถึงกรณีปัจจุบันที่ ป.ป.ช.เตรียมเข้าไปตรวจสอบสินบนข้ามชาติที่บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึงการจ่ายสินบนให้กรมทางหลวงและกองทัพอากาศ โดยศูนย์คดีระหว่างประเทศ สำนักกิจการ และคดีทุจริตระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และประสานงานกับคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 138 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

นอกจากนี้ หากพบการกระทำความผิดในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ดังกล่าว บริษัทเอกชนผู้ให้สินบนจะถูกดำเนินคดีฐานให้สินบนตามมาตรา 176 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกดำเนินคดีฐานรับสินบนตามมาตรา 173 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

รอยเตอร์ รายงาน เวิร์ทเก้นที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทเดียร์ ได้จ่ายสินบนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ถึงปี 2563 โดยการให้สินบนมี 5 รูปแบบ ดังนี้

1.การให้เงินสด 

2.การเลี้ยงอาหาร 

3.การจ่ายเงินในรูปค่าที่ปรึกษา 

4.การพาเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปเยี่ยมชมโรงงานในสวิตเซอร์แลนด์และประเทศอื่นในยุโรป

5.การให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด

สำหรับพฤติกรรมของบริษัทดังกล่าวถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการบัญชีภายใน ของกฎหมายต่อต้านการให้สินบนของรัฐบาลกลางสหรัฐ หรือพระราชบัญญัติการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act)

ทั้งนี้ บริษัทเดียร์จ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท) ให้กับ ก.ล.ต.สหรัฐเพื่อยอมความ โดยในจำนวนนี้ 4.5 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าปรับทางแพ่ง (civil fine), 4.34 ล้านดอลลาร์ เป็นการชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดและอีก 1.09 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าดอกเบี้ย

บริษัทรถแทรกเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐยอมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.ด้วยการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว และบริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกฎระเบียบของรัฐ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน

สำหรับบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือของเดียร์ที่จะทะเบียนในประเทศไทย จดทะเบียนธุรกิจวันที่ 25 ก.ค.2540 ทุนจดทะเบียน 176 ล้านบาท ทำธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเครื่องจักรและเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายและก่อสร้าง โดยมีกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย นายโสพลชัย เกื้อศิริกุล , นายป๊อก ซัม ลุง และนายธีร์ ศรีพวาทกุล

ขณะที่กรุงเทพธุรกิจได้ตรวจสอบผลดำเนินการย้อนหลัง 5 ปี พบข้อมูล ดังนี้ 

ปี 2566 มีรายได้รวม 641 ล้านบาท กำไรสุทธิ 27 ล้านบาท 

ปี 2565 มีรายได้รวม 912 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65 ล้านบาท 

ปี 2564 มีรายได้รวม 1,153 ล้านบาท กำไรสุทธิ 39 ล้านบาท 

ปี 2563 มีรายได้รวม 1,260 ล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท 

ปี 2562 มีรายได้รวม 1,009 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52 ล้านบาท

ส่วนข้อกล่าวหาที่เวิร์ทเก้นได้ทำการจ่ายสินบนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ไปจนถึงปี 2563 เป็นช่วงที่ครอบคลุมการบริหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 คน คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ปี 2558-2562 , นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปี 2562-2566 

รวมทั้งเป็นช่วงที่อยู่ในการบริหารของอธิบดีกรมทางหลวง 3 คน คือ นายธานินทร์ สมบูรณ์ ปี 2559-2561 , นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ปี 2561-2562 และนายสราวุธ ทรงศิวิไล ปี 2562-2567