เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ใจกลางเมือง ’ท่าเรือคลองเตย‘

เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ใจกลางเมือง ’ท่าเรือคลองเตย‘

จับตาการพลิกโฉม “ท่าเรือคลองเตย“ พื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้า “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์“ ปักหมุดเป็นหนึ่งในเป้าหมายพัฒนา ขณะที่การท่าเรือฯ ย้ำมีแผนเดิมจ่อปั้น “ท่าเรืออัจฉริยะ“

รัฐบาล “แพทองธาร1” เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจากการแถลงของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพบว่ามีนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่จะดำเนินการทันทีและยังมีนโยบายบางส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม และเศรษฐกิจ

หยิบยกเฉพาะนโยบายที่ 7 เรื่องการ “เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว” สานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตรา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนสนุก สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการในประเทศ

จากการแถลงนโยบายเร่งด่วน ชี้ชัดแล้วว่าสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วแม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของแนวทางการพัฒนาโครงการนี้ แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “มนพร เจริญศรี” ออกมายอมรับถึงเรื่องนี้ว่า “ท่าเรือคลองเตย” เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลจะผลักดันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) หน่วยงานบริหารพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษายกระดับท่าเรือและชุมชนโดยรอบ ผ่านแผนพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) บนที่ดินรวม 2,353 ไร่ ลักษณะโครงการแบบผสมผสาน (Mixed Use) พัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยเป็นอาคารแนวสูง ดำเนินโครงการเขตปลอดอากร (Bangkok Port Free Zone) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม และพื้นที่ขายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) เป็นต้น

ส่วนธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือ จะปรับโฉมท่าเรือคลองเตย รองรับกิจการท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นปรับปรุงท่าเรือชายฝั่ง และท่าเรือขนส่งทางทะเล ให้เป็นระบบอัตโนมัติ ถือเป็นการย่อส่วนท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา จัดสรรระบบขนส่งสินค้าให้รองรับตู้ขนส่งสินค้าในปริมาณเท่าเดิม แต่สามารถลดจำนวนรถบรรทุกเข้าออกพื้นที่ท่าเรือ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างมลภาวะ

ขณะที่ “เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข” ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดของโครงการ เนื่องจากพื้นที่ท่าเรือมีพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งระบุว่า พื้นที่นี้เวนคืนมาเพื่อดำเนินการ และสร้างความเจริญในกิจการท่าเรือ และเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และประชาชน ซึ่งต้องใช้ประโยชน์เพื่อการดำเนินกิจการท่าเรือ และโลจิสติกส์ เท่านั้น

แม้วันนี้ท่าเรือคลองเตยจะยังไม่เคาะแผนพัฒนาที่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าด้วยรูปแบบ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หรือ “ท่าเรืออัจฉริยะ” แต่สิ่งที่เด่นชัด คือ พื้นที่ท่าเรือแห่งนี้กำลังจะถูกปรับโฉม เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพ วิถีของประชาชนในพื้นที่โดยรอบก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป