เกษตรฯ เคาะสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นตามนโยบายรัฐ

เกษตรฯ เคาะสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นตามนโยบายรัฐ

นฤมล พร้อมปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ภายใต้นโยบายรัฐเท่านั้น เล็งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างรอบด้าน ขณะกรมชลพร่อง น้ำชี-มูล รับฝน 16-17 ก.ย. นี้

          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุจะหยิบยกโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากในแม่น้ำยม นั้น หากกำหนดให้เป็นนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมจะดำเนินการ ทั้งนี้ต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนอีกครั้ง

เกษตรฯ เคาะสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นตามนโยบายรัฐ

หากรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการ ต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่และจะต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากหน่วยงานที่้เกี่ยวข้อง ชุมชน และภาคประชาสังคม กรณีที่เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับกระทบที่จะเกิดขึ้น จะต้องพิจารณาว่า จะมีจุดร่วมอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ของการสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมเนื่องจากเป็นลุ่มน้ำเดียวของต้นน้ำลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับทำให้เกิดน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก

"ปัญหาภัยพิบัติมีความถี่มากขึ้น ได้สั่งการกรมชลประทาน เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รับมือสถานการณ์น้ำ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน นายพลากร สุวรรณรัตน์ องคมนตรีได้มาเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและย้ำให้นำโครงการที่ศึกษาไว้แล้วมาพิจารณาใหม่เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับต้องมีแผนเผชิญเหตุและการเตือนภัยอย่างทันเหตุการณ์เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด”

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำน้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วด้วยการควบคุมบานระบายของเชื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่ง ตลอดจนพร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาซึ่งเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำมูลให้มากที่สุด พร้อมทั้งแขวนบานที่เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโขง โดยเป็นการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างวันที่ 16 – 17 กันยายนนี้ ตามการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา

เกษตรฯ เคาะสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นตามนโยบายรัฐ

แม้ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น แต่ยังสามารถระบายได้เนื่องจากระดับน้ำแม่น้ำมูลที่แก่งสะพือสูงกว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงถึง 7 เมตร แต่เน้นย้ำว่า ต้องควบคุมไม่ให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจนเกินไปเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตลิ่งทรุดและเป็นระดับน้ำที่แพสูบน้ำต่างๆ ของท้องถิ่นสามารถลอยน้ำอยู่ได้

ตลอดจนเฝ้าระวังและป้องกันพื้นที่น้ำท่วมชุมชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ และอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการวางแผนเสริมกำแพงปิดช่องว่างที่ระดับ +113.50 ม.รทก. จากความจุลำน้ำเดิม 2,300 ลบ.ม./วินาทีจะเพิ่มเป็น 3,200 ลบ.ม./วินาที โดยเพิ่มความจุลำน้ำขึ้นอีก 39%

 

 

 

สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ปัจจุบันฝนหยุดตก อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนบริเวณภาคเหนือตอนบนจะลดลงเนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆ ลดลงเข้าสู่ระดับตลิ่ง ก่อนหน้านี้ได้เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังไหลกลับลงสู่ลำน้ำเดิมได้สะดวกและใช้เครื่องสูบน้ำสูบออก

ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด ที่สถานี C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,206 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,246 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.05 เมตร ส่วนที่สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,150 ลบ.ม./วินาทีเท่ากับเมื่อวานนี้ แต่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งเตือนว่า อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ของภาคกลางจึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกเพิ่มในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

เกษตรฯ เคาะสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นตามนโยบายรัฐ

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยางดทำนาปีต่อเนื่องเพราะในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และพื้นที่ส่วนใหญ่มีฝนตกชุกมากที่สุดในรอบปี จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ยังอาจได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง หลังการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ขอให้งดเว้นการปลูกข้าวต่อเพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น

โดยล่าสุดกรมชลประทานร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศูนย์บริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นเอกภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีนเพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที รวมถึงสามารถแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบ

ปัจจุบันลุ่มน้ำภาคกลาง อ่างเก็บน้ำยังคงมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีก ตลอดจนเตรียมความพร้อมพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งเพื่อเตรียมไว้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ โดยกรมชลประทานได้สร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่จะช่วยระบายน้ำในกรณีที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด