สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม รับน้ำเหนือ

สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม รับน้ำเหนือ

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม รับน้ำเหนือเพิ่มมากขึ้น หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ จะมีปริมาณฝนตกเพิ่ม

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดถึง สถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า วันนี้ (1ก.ย.67  เวลา 06.00 น.)ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์  มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,485 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่  ก่อนจะไหลลงสู่ เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา ในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว  พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม./วินาที  เร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด


 

ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา  ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม. ถึง 1.50 เมตร  

ส่วนที่ สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 1,400 ลบ.ม./วินาที  จากอิทธิพลของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 30 ส.ค.- 5 ก.ย. 67  อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี  นนทบุรี และกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ ยกตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ปัจจุบัน(1 ก.ย.67) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,209 ล้าน ลบ.ม. (57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,662 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์  ได้ปรับลดการระบายน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ  แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้จะมีปริมาณฝนตกเพิ่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  รวมทั้งภาคกลาง  ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป