เทรนด์แบงก์ชาติทั่วโลกทยอยลด ‘คลัง’ ฟันธงดอกเบี้ยขาลง
“คลัง” ส่งสัญญาณแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย หลังเฟดหั่นดอกเบี้ย แนะไทยควรขยับลงตามประเทศมหาอำนาจ ชี้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงสหรัฐ ส่งผลเงินทุนไหลเข้าออก บล.ซีจีเอส ชี้ ผลประชุมเฟดสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐ บล.เอเซีย พลัส หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง
ทิศทางดอกเบี้ยของโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งธนาคารกลางต่างจับตามองผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ผ่านมา และธนาคารกลางของหลายประเทศทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 เป็นการปรับลดก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของเฟด และปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยลง โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ลง 0.25% มาอยู่ที่ 3.50% รวมถึงธนาคารกลางของเดนมาร์กปรับในวันเดียวกันลง 0.25% มาอยู่ที่ 3.10%
ส่วนธนาคารประชาชนจีน ลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2567 ลง 0.15% มาอยู่ที่ 2.50% (MLF) โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีธนาคารกลางที่ยังลดดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบด้วย นิวซีแลนด์ ลด 0.25% มาอยู่ที่ 5.25% เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 เป็นครั้งแรกรอบ 4 ปี
รวมถึงธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ลด 0.25% มาอยู่ที่ 6.25% เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 ลงครั้งแรกรอบ 4 ปี และธนาคารกลางสวีเดน ปรับลด 0.25% เหลือ 3.50% เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567 เป็นการปรับลด ครั้งที่ 2 ของปีนี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทิศทางการปรับดอกเบี้ยมองว่าในส่วนประเทศไทยแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีความเป็นอิสระ แต่ถ้าถามว่าจะส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร
ทั้งนี้ ในมุมนักวิชาการมองว่าไทยต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงิน หากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับสหรัฐค่อนข้างมาก โดยทุกครั้งที่สหรัฐเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบเงินทุนไหลเข้า และไหลออกของไทยพอสมควร โดยกรณีสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน แต่กรณีลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทแข็งค่า
ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ผนวกกับเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะไหลเข้ามา คงจะต้องพิจารณาหลายด้าน ทั้งค่าเงิน และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ต้องปล่อยให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือ
“ประเทศไทยถือเป็นแดนสวรรค์ของคนที่อยากเอาเงินมาเก็บไว้ เพราะประเทศไทยไม่ว่าเศรษฐกิจจะโตหรือไม่ เงินเราก็เป็นบวกตลอดเวลา ทั้งยังมีสถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ดี” นายพิชัย กล่าวต่อว่า
“คลัง” ชี้ถึงเวลาเพิ่มกรอบเงินเฟ้อ
สำหรับการหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท.ปลายปี 2567 ได้นัดพูดคุยกันแล้ว และหารือกันต่อเนื่องผ่านทางโทรศัพท์บ้าง และการนัดพบกัน
ทั้งนี้ จุดยืนของกระทรวงการคลัง มองว่า วันนี้สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น และเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายที่ชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นกลับมา สะท้อนจากการฟื้นตัวของตลาดทุน ดังนั้นในภาพรวมจึงมองว่าเป็นจังหวะเหมาะที่จะเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นอีกหน่อย
โดยวันนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวแล้ว แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นก็ได้เวลาแล้วที่เงินเฟ้อควรจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนจะใช้เป็นค่ากลางหรือเป็นการกำหนดกรอบสูง-ต่ำก็อยู่ที่พิจารณา
“เงินเฟ้อไทยวันนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มองไปข้างหน้าทีไรก็มีแต่คาดการณ์ว่าเดี๋ยวจะขยับสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นสักที ซึ่งเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำอยู่เรื่อยมา”
นายพิชัย กล่าวว่า เงินเฟ้อต่ำถ้ามองในมุมผู้ซื้อก็คงมองว่าดี ทำให้ซื้อของในราคาถูก ขณะที่มุมมองผู้ขายจะไม่ค่อยชอบ สังคมเราผูกกันหมด ถ้าฝั่งผู้ขายมีปัญหา ต้องหยุดผลิตไป ทำให้ของขาดตลาด สุดท้ายผู้บริโภคก็จะเจอปัญหาของแพง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อต้องอยู่ระดับที่เหมาะสม ซึ่งระดับนั้นควรเป็นเท่าไรจะต้องดูสถานการณ์โลก ประเทศเพื่อนบ้าน และคู่แข่งด้วย
ผลประชุมเฟดสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐ
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ทั่วโลกกำลังจับตาการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ไม่ว่าผลการปรับดอกเบี้ยจะออกมาอย่างไร ต่างมีผลต่อนัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ย.2567 หุ้นไทยเริ่มมีแรงเทขายออกมา เนื่องจากมีความกลัวว่าเฟดจะทำอะไรที่ผิดพลาดหรือไม่ ซึ่งจังหวะนี้นักลงทุนควรเพิ่มพอร์ตในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่า บาทแข็งค่า โฟลว์ไหลเข้า และมีกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งมีข่าวดีค่อนข้างมาก เพราะควรเลือกลงทุนในหุ้นแลกการ์ดในประเทศ
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดรับรู้การลดดอกเบี้ยค่อนข้างมากเป็นส่วนใหญ่แล้ว ดังนั้น กรณีเฟดลดดอกเบี้ยลงคงไม่ทำให้ตลาดผันผวนมากนักโดยอาจเห็นการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากระยะเวลาสั้นเช่นเดียวกับเงินบาทที่คาดว่าจะเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลลาร์ จากปัจจุบัน 33.40 บาทต่อดอลลาร์
หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐชุดล่าสุดออกมาทั้งยอด RETAIL SALES และ INDUTIAL PRODUCTION ยังสูงกว่าคาด ซึ่งยังไม่ได้สะท้อนเศรษฐกิจชะลอตัวลงแรงอย่างมีนัย
ทั้งนี้ การทยอยปรับลดดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว บวกกับเงินบาทที่มีการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน แต่ในเชิงเศรษฐกิจมักกระทบภาคส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับลดดอกเบี้ย โดยเป็นการเพิ่มคาดหวังว่าจะเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ราว 0.25%
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมเฟดครั้งนี้คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยในกรณีที่มีการลดดอกเบี้ยลงแรงและเร็ว อาจส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ HARD LANDING แต่ถ้าดอกเบี้ยลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ซึ่งสะท้อนว่าเฟดได้ทำ SOFT LANDING สำเร็จ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์