สมาคมหมู แนะพาณิชย์แก้หมูบราซิลถล่มไทย

สมาคมหมู แนะพาณิชย์แก้หมูบราซิลถล่มไทย

สมาคมหมู ชี้เหตุผลหมูบราซิลถูก เพราะราคาวัตถุดิบต่ำมาก แนะ กระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาให้ตรงจุด หลังราคาไทยแพงสุดในโลก

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  เปิดเผยว่า ตามที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์  อ้างว่าราคาเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าจากประเทศบราซิลแม้มีเสียค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะรายทาง แต่สามารถวางขายในตลาดประเทศไทยได้ เป็นเพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบราซิลต่ำมาก

ขณะที่โครงสร้างต้นทุนการผลิตสุกรของประเทศไทยที่มีต้นทุนส่วนใหญ่ 65-70% มาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนโยบายโดยกระทรวงพาณิชย์มีราคาสูงมาก ทั้งกลุ่มพืชโปรตีน ได้แก่ กากถั่วเหลือง ซึ่งมีการบวกกำไรเกินกว่าเหตุ จนทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์กลุ่มโปรตีนของไทยเป็นกลุ่มที่มีราคาสูงที่สุดในโลก รวมถึงข้าวโพดในไทยที่แพงถึงกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวโพดต่างประเทศอ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

สมาคมหมู แนะพาณิชย์แก้หมูบราซิลถล่มไทย

"ทั้งหมดนี้่คือสาเหตุหลักที่ กระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้าไปดูโครงสร้างการกำหนดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ถือว่าแตะต้องไม่ได้มาเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งมีมาตรการ 3 ต่อ 1 ที่ยังคงทำให้ราคาข้าวโพดสูงอย่างต่อเนื่องและมีเงื่อนงำ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่กลุ่มเกษตรกรมีการเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด

 ซึ่งคาดว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อยน่าจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น การยื่นร้องเรียนการประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากการไม่ได้รับคำตอบหรือการแก้ไข ในกรณีเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ในเร็วๆนี้ เช่นกัน"

 

สมาคมหมู แนะพาณิชย์แก้หมูบราซิลถล่มไทย ด้าน นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร หากปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเชื่อว่าผู้เลี้ยงสามารถทำต้นทุนเฉลี่ยได้ 60 บาทต่อกิโลกรัม แข่งขันกับบราซิลได้แน่นอน ที่สำคัญเนื้อหมูไทยคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง และสดสะอาดกว่าหมูที่มาจากบราซิล

“รัฐบาลควรมองมุมกลับ แทนที่จะนำเข้าหมูจากบราซิลหรือขายหมูไทยให้ถูกเท่ากับบราซิล เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงหมูไทยผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนกับบราซิลจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยนำเงินตราเข้าประเทศแล้วยังช่วยให้คนไทยได้บริโภคเนื้อหมูในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนตามเป้าหมายของรัฐบาล และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตจากการส่งออกเนื้อสัตว์”