ผ่าทางตัน "ต้นทุน" วัตถุดิบอาหารสัตว์
แม้ว่าสถานการณ์ราคาหมูขุนมีชีวิตจะดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปพิจารณาต้นทุนนับว่าน่าหนักใจ เนื่องจากต้นทุนธัญพืชอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก จากปัจจัยรุมเร้าที่หนักหน่วง
เริ่มต้นปี 2567 สถานการณ์ด้านราคาหมูขุนมีชีวิตก็กระเตื้องขึ้นมากบ้างที่ 68 – 74 บาท/กก. โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงตรุษจีนที่ราคา 80 บาท/กก. ให้พอให้ผู้เลี้ยงสุกรที่เหลืออยู่น้อยนิดให้หายใจคล่องขึ้นมาบ้าง
หลังจากขาดทุนมาตลอดทั้งปี 2566 ระหว่างทางก็มีผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมากตัดสินใจเลือกเลี้ยงหมูไปเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าสถานการณ์ด้านราคาจะดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปพิจารณาต้นทุนนับว่าน่าหนักใจสำหรับชาวหมู เนื่องจากต้นทุนธัญพืชอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยรุมเร้าที่หนักหน่วง
ทั้งสถานการณ์ภัยแล้งจาก El Niño ที่ส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมมีแนวโน้มลดลง และสถานการณ์สงครามที่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาพืชอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ภาพที่ 1)
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พบว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนความต้องการใช้อาหารสัตว์ประมาณ 20 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 50% กากถั่วเหลือง 28% มันสำปะหลัง 9% ปลายข้าว 9% และปลาป่น 4% ตามลำดับ
เมื่อเราพิจารณาธัญพืชอาหารสัตว์สำคัญที่ใช้ในสูตรอาหารสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มให้พลังงาน ประกอบด้วย ข้าวโพด ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ทั้งหมดสามารถผลิตได้ภายในประเทศ มีเพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตไม่เพียงพอต้องนำเข้า และ 2) กลุ่มโปรตีน คือ กากถั่วเหลือง ซึ่งต้องนำเข้า
กากถั่วเหลือง จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนอาหารสัตว์ในปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 20,000 ตัน/ปี ได้กากถั่วเหลืองเพียงน้อยนิด
สวนทางกับปริมาณความต้องการใช้ถั่วเหลืองในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประมาณ 5.4 ล้านตัน เป็นกากถั่วเหลืองที่ได้จากการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาสกัดเป็นน้ำมันพืชในประเทศ 2.7 ล้านตัน ต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองอีก 2.9 ล้านตัน โดยนำเข้าจากบราซิลเป็นหลัก
ภาพที่ 1 ราคาธัญพืชอาหารสัตว์ส่ง ณ โรงงาน เดือนมกราคมปี 2564 2565 และ 2566 ที่มา: สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (2567)
ซึ่งปริมาณผลผลิตคาดการณ์ปี 2566/67 ไว้ 5.88 ล้านตัน แม้จะมีการขยายพื้นที่ปลูก แต่พื้นที่ผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อันเป็นผลของปรากฏการณ์ El Niño [1] ผลผลิตของปีนี้จึงต้องลุ้นว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่
แต่ก็พอสรุปได้ว่า ราคาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองของปีนี้น่าจะคงตัวในระดับสูง และต้องไม่ลืมต้นทุนการผลิตของประเทศต้นทาง ค่าเดินเรือ และค่าประกันภัยในการขนส่งที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลใช้เวลาเป็นแรมเดือนจะมาถึงไทย
นอกจากนี้ จากภาพที่ 1 เราจะเห็นความแตกต่างของราคากากถั่วเหลืองใน (เมล็ดนำเข้า) และกากถั่วเหลืองนำเข้าที่น่าสนใจคือ ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมีราคาแพงกว่าราคากากถั่วเหลืองนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตอนนี้ไม่ได้เป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เนื่องจากตั้งราคาจะอ้างอิงตลาดโลก บวกต้นทุนค่าขนส่ง และภาษีนำเข้า 2% ในราคาขาย เหตุใดต้องตั้งโครงสร้างราคาเช่นนี้
เดาว่าคงให้เหตุผลว่าช่วยผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ เพราะหากผู้ผลิตน้ำมันพืชถั่วเหลืองไม่สามารถเพิ่มราคาขายกากถั่วเหลืองได้ ก็คงขอปรับเพิ่มราคาน้ำมันพืชถั่วเหลืองแทน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนส่วนนี้ มันยุติธรรมแล้วหรือ?
ขณะที่มาพิจารณากากถั่วเหลืองนำเข้า ผู้เขียนได้รับข้อมูลว่า ราคากากถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือ (C.I.F) ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 16.5 บาท/กก. แต่ราคารับซื้อกากถั่วเหลืองหน้าโรงงานอยู่ที่ 22.8 บาท/กก. (ราคา ณ 5 มกราคม 2567)
เหตุใดจึงมีส่วนต่างมากถึงเพียงนี้ แม้จะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าในโควต้า 2% บวกค่าขนส่งจากท่าเรือไปโรงงาน ก็ไม่ควรจะมีส่วนต่างเกิน 5 บาท/กก. อยากทราบเหลือเกินว่ามีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ต้นทุนกากถั่วเหลืองนำเข้าสูงถึงเพียงนี้
เราสรุปได้แน่นอนว่า โครงสร้างราคากากถั่วเหลืองทั้งสองแหล่งบิดเบี้ยว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นง่าย ปรับลดยาก
ปัญหานี้ไม่เพียงเฉพาะไทย ผู้ใช้ถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลกอย่างจีน ที่มีปริมาณความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไม่น้อยกว่า 70 ล้านตัน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน
แรงกดดันนี้ทำให้จีนอนุมัติให้มีการผลิตถั่วเหลือง GMO 14 สายพันธุ์ รวมถึงข้าวโพด GMO อีก 37 สายพันธุ์ แล้วในช่วงเดือนตุลาคม 2566 เพื่อลดการนำเข้า หลังจากได้มีการทดลองปลูกในแปลงขนาดใหญ่ (Large-scale trials) 20 แห่ง ใน 5 จังหวัด
สำหรับประเทศไทยยังคงมีกฎหมายห้ามใช้พันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม แต่เรายังคงนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง GMO เข้ามาสกัดน้ำมัน และกากถั่วเหลืองที่เรานำเข้าก็คงสกัดจากเมล็ดถั่วเหลือง GMO
เข้าตำราเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินแกง ไม่อนุญาตให้ปลูก แต่ก็อนุญาตให้นำเข้า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประเด็นถัดไปที่ต้องพิจารณาคือ ธัญพืชแหล่งพลังงาน ควรพิจารณายกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 โดยกำหนดปริมาณนำเข้าตามปริมาณความต้องการส่วนเกินของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในแต่ละปี ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกราย
และวิธีการคำนวณราคาและมาตรฐานรับซื้อที่คำนึงถึงความชื้นและน้ำหนักให้ชัดเจนเป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นธรรมต่อเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผู้เลี้ยงปศุสัตว์
อีกทางหนึ่งที่ต้องกลับมาคิดกันใหม่คือ การปรับสูตรอาหารโปรตีนต่ำ (Low-protein diet) เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี ลดอัตราการสูญเสียระหว่างทาง ใส่โพรไบโอติกในสูตรอาหารเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม
ปรับการใช้สูตรอาหารสัตว์แม่นยำ (Precision feed) ที่เหมาะสมกับพันธุ์และช่วงอายุของสัตว์ แนวทางนี้จะทำให้ต้นทุนการแปลงอาหารเป็นเนื้อสัตว์ (Feed Conversion per Gain: FCG) ต่ำลง
หากภาครัฐไม่แก้ไขปัญหาวิกฤตต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์อย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ต้นทุนการผลิตหมู ปศุสัตว์ทุกชนิดทั้ง ไก่ โคเนื้อ โคนม ก็จะไปไม่รอด เกษตรกรรายย่อย รายเล็ก และรายกลางจำนวนมากตัดสินใจเลิกเลี้ยง
เพราะตระหนักแล้วว่า อาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ทั้งหมู ไก่ โคเนื้อ โคนม จะไม่ใช่อาชีพของเกษตรกรตัวเล็ก ๆ อีกต่อไป
สุดท้ายไม่เพียงต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังต้องนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ผลท้ายสุดจะตกไปที่ผู้บริโภค ต้องบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เมื่อนั้นประเทศไทยจะไร้ซึ่งความมั่นคงทางอาหารโปรตีนที่เราเคยมีอย่างอุดม.