เปิดภารกิจเร่งด่วน 'บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ' ลุยแก้หนี้ - เร่งโครงการลงทุน

เปิดภารกิจเร่งด่วน 'บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ' ลุยแก้หนี้ - เร่งโครงการลงทุน

“แพทองธาร” ลงนามตั้งบอร์ด นโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีรองนายกฯ และกรรมการ จากหลายกระทรวงเศรษฐกิจเป็นกรรมการ คลังเป็นฝ่ายเลขานุการ เดินหน้าจัดลำดับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาต่อดิจิทัลวอลเล็ต ชี้เรื่องเร่งด่วน แก้หนี้ บริหารการแก้หนี้ ผลักดันโครงการลงทุน

KEY

POINTS

  • “แพทองธาร” ลงนามตั้งบอร์ด นโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีรองนายกฯ และกรรมการ จากหลายกระทรวงเศรษฐกิจเป็นกรรมการ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง
  • ภารกิจของบอร์ดชุดนี้ครอบคลุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดลำดับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาดิจิทัลวอลเล็ตในระยะต่อไป 
  • ภารกิจเร่งด่วนของบอร์ดชุดนี้คือการแก้หนี้  บริหารการแก้หนี้ ผลักดันโครงการลงทุน 
  • จับตาการออกกฎหมายแก้หนี้ แฮร์คัทหนี้เสีย หลังองค์ประกอบของกรรมการมีประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 321/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดและออกแบบโครงการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่จะสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนและการประกอบอาชีพ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.2567 ภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เปิดภารกิจเร่งด่วนบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วาระเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไปคือการวางแผนการดำเนินการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มีการแจกเงินคนละ 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบางแล้ว โดยจะต้องเตรียมการในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งทำไปควบคู่กับการเยียวยาอุทกภัย ซึ่งรัฐบาลต้องบริหารเม็ดเงินงบประมาณที่มีอยู่ควบคู่กันไปโดยโครงการลงทุนบางโครงการสามารถปรับให้เป็นโครงการซ่อม สร้างโครงการต่างๆในพื้นที่ได้เช่นกันซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนานและปัจจุบันหนี้ครัวเรือนยังสูงกว่า 90% ของจีดีพี ซึ่งก่อนหน้านี้ 3 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สศช. , ธปท. และกระทรวงการคลังได้หารือกันในเบื้องต้นแล้ว

โดยแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนที่จะนำมาใช้ มีหลายระดับและมีหลายมาตรการที่ควบคู่กันไป เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้มีการจ่ายคืนหนี้เงินต้นได้มากขึ้น การยืดระยะเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารหนี้เพื่อรองรับการแฮร์คัทหนี้ภาคประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนด้วย ซึ่งในเรื่องของการแฮร์คัทหนี้ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่อง “ภัยทางจริยธรรม” (Moral Hazard) ตามมา

 

“ในขณะนี้เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะต้องมองในเรื่องมาตรการที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งทำควบคู่ไปกับการซ่อม สร้างและการเยียวยาน้ำท่วมด้วย เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องหลังจากที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในส่วนแรก 1.455 แสนล้านบาท ในระยะต่อไปต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการใช้งบประมาณลงไปในโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย

  • น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
  • นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 
  • นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 
  • นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3 
  • นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 4

นอกจากนี้ มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย

  • นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ 
  • น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
  • นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง 
  • นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง 
  • เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 
  • ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปลัดกระทรวงมหาดไทย 
  • เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 
  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 
  • ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
  • ประธานสมาคมธนาคารไทย 
  • ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

เปิดอำนาจหน้าที่บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการในภาพรวม ให้เป็นไปตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

รวมทั้งกำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจบรรลุผลสำเร็จ และเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี

รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ส่วนราชการทีเกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงาน ของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย