น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร
นมอินทรีย์มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่านมทั่วไป การผลิตนมอินทรีย์ของไทยเพิ่งเริ่มต้น ตามกรอบBCG Economy Model นำร่องเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆต่อไป พบได้สารอาหารสูงกว่าขายได้แพงกว่า
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์รายสินค้า กรณีศึกษา น้ำนมดิบอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตามกรอบแนวคิดBCG Economy Modelซึ่งเป็นแนวทางในการยกระดับการผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรนำไปสู่ความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
จากผลการศึกษาของ สศท.7 พบว่า ปัจจุบันมีฟาร์มโคนมอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 8 ฟาร์ม มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโคนมอินทรีย์ จำนวน 1,852 ไร่มีโคนมอินทรีย์ จำนวน 998 ตัวโดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นกลุ่มหลักในการดำเนินการ และมีเครือข่ายฟาร์มโคนมภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจฯ จำนวน 5 ฟาร์ม ผู้ประกอบการรายเดี่ยว 2 ฟาร์ม และส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจ 1 ฟาร์ม ได้แก่
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค) สำนักงานภาคกลาง โดยทุกฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์Organic Thailandและได้มีการดำเนินงานและบริหารจัดการตามรูปแบบ เศรษฐกิจBCG Model (Bio-Circular-Green Economy)อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านสถานการณ์การผลิต พบว่าเกษตรกรนิยมเลี้ยงโคนมอินทรีย์สายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนหรือสายพันธุ์ขาวดำ เนื่องจากเป็นโคสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ให้น้ำนมเฉลี่ยสูงที่สุด ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ของจังหวัดสระบุรี มีโคที่สามารถรีดนมได้ 304 ตัวได้ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ทั้งจังหวัด 129,600กิโลกรัม/เดือน หรือ 129.6 ตัน/เดือน
ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์เฉลี่ย 13.90กิโลกรัม/ตัว/วัน ราคาขายน้ำนมดิบอินทรีย์ (ราคา ณ วันที่ 9 กันยายน 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำนมดิบทั่วไปที่มีราคาอยู่ที่ 20.10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากน้ำนมจากโคนมอินทรีย์ เป็นน้ำนมที่ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่นและรสใด ๆ ไม่มีสารเคมี ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนตกค้างในน้ำนม ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง
.
ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ของเกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับบริษัท แดรี่โฮมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งรับซื้อผลผลิตโดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายคือ สมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในด้านปศุสัตว์อินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร สมาชิกต้องไม่ยึดถือผลกำไรเป็นหลัก และสมาชิกต้องมีความพร้อมในการผลิตพืชอาหารสัตว์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกและในส่วนของน้ำนมดิบอินทรีย์ของอ.ส.ค. จะส่งผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ภายในฟาร์มเข้าสู่โรงงานนมออร์แกนิคของ อ.ส.ค
สำหรับแนวทางพัฒนาสินค้าน้ำนมดิบอินทรีย์ตามกรอบแนวคิดBCG Economy Model ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนมพันธุ์ดีให้มีความต้านทานโรค ให้น้ำนมสูง การจัดการฟาร์ม จะคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำนมดิบอินทรีย์ได้แก่
นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต กรีกโยเกิร์ต (Organic Greek Yogurt)เต้าฮวยนมสดน้ำมะพร้าวนมสด เบเกอรี่ และไอศกรีมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการจัดการวัสดุเหลือใช้โดยนำน้ำนมอินทรีย์ตกเกรด (น้ำนมเหลืองที่โคคลอดใหม่) มาผลิตเป็นน้ำนมหมักชีวภาพเพื่อใช้บำรุงพืช นำมูลโคมาผลิตเป็นมูลโคตากแห้งใส่แปลงหญ้าอาหารสัตว์ สำหรับเลี้ยงโคอินทรีย์และมาผลิตทำปุ๋ยคอกหมักเพื่อใช้หว่านแปลงพืชอาหารสัตว์และนำมาผสมเป็นอาหารข้น เลี้ยงโคนมอินทรีย์
และ ด้านเศรษฐกิจสีเขียว การผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเข้มงวด มีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในฟาร์มโดยปลูกหญ้า เลี้ยงโคนมอินทรีย์ และปลูกไม้ยืนต้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์เกษตรกรควรยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภายนอก คัดเลือกสารอาหารที่สำคัญในวัตถุดิบแต่ละชนิด และพัฒนาอาหารที่มีสัดส่วนคุณค่าทางโภชนาการสูงมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และภาครัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของการดื่มน้ำนมอินทรีย์มากขึ้น